xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง! สะพานขึงคู่พระราม 9 กทพ.ชงด่วน “พระราม 3-วงแหวนฯ” 3.2 หมื่นล้านซอย 5 สัญญาเร่งสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทพ.ทดสอบแบบจำลองสะพานขึงใหม่ คู่สะพานพระราม 9 แรงลมปะทะระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นเพื่อความปลอดภัยสูงสุด เผยชง ครม.เห็นชอบ “พระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ” 3.2 หมื่นล้าน คาด ต.ค.นี้ได้ไฟเขียวออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เร่งเปิดประมูล มี.ค. 60 แบ่งงานโยธา 4 สัญญา งานระบบ 1 สัญญา “ประธานบอร์ด” มั่นใจประเดิมกองทุน TFF ฉลุย เร่งสร้างเสร็จใน 40 เดือน จากนั้นเตรียมแผนปิดสะพานพระราม 9 เดิมเพื่อซ่อมใหญ่

พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการทดสอบสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 เดิม ตามโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ผ่านอุโมงค์ลมที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า การทดสอบเพื่อความมั่นใจในประสิทธิภาพความปลอดภัยในการก่อสร้าง โดยเฉพาะกรณีมีแรงลมปะทะสะพานที่อยู่คู่ขนานกันในระดับสูงสุดที่ 430 กม./ชม. ระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่น ขณะที่แรงลมที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยประมาณ 120 กม/ชม. เพื่อดูแรงสั่นไหวว่าอย่างไร ซึ่งสามารถนำข้อดีมาปรับเปลี่ยนในการก่อสร้างได้อีก

ซึ่งขณะนี้ กทพ.ได้เสนอขออนุมัติโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ  32,000 ล้านบาท พร้อมกับการขอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ต.ค. 2559 และหากได้รับความเห็นชอบจะประกาศทีโออาร์ประมูลก่อสร้างได้ภายใน 6 เดือน หรือในเดือน มี.ค. 2560 โดยการก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้เกาะกลางถนนพระราม 2 มีเวนคืนเล็กน้อยบริเวณ ถนนสุขสวัสดิ์ ช่วงใต้สะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ประมาณ 6 ไร่ ส่วนงบเวนคืนนั้นเพิ่มจาก 200 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีการปรับเพิ่มราคาขึ้นหลังจากที่มีแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)

ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย งานโยธา 4 สัญญา โดยสัญญางานก่อสร้างสะพานขึงและทางขึ้นลงสะพาน ซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้เวลาก่อสร้างนานที่สุด ประมาณ 40 เดือน และอีก 3 สัญญาเป็นงานโยธาเชื่อมจากสะพานไปตามแนวถนนพระราม 2 ประมาณ 10 กว่า กม. และสัญญาที่ 5 งานติดตั้งระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง
 
โดยสะพานขึงของทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ จะมี 4 ช่องจราจร ไป/กลับ รวม 8 ช่องจราจร ซึ่งจะกว้างกว่าสะพานพระราม 9 เดิมที่มี 6 ช่องจราจรไป/กลับ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน ที่จะช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนสะพานพระราม 9 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถถึง 1.05 แสนคัน/วัน แล้ว กทพ.มีแผนจะปิดสะพานพระราม 9 ประมาณ 6-8 เดือนเพื่อบูรณะซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เพื่อยืดอายุการใช้งานอีกด้วย หากไม่มีสะพานใหม่จะไม่สามารถทำตามแผนงานได้

“รัฐบาลให้โครงการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ซึ่งจะเรียบร้อยภายในปลายปีนี้ คาดว่าจะพอดีกับที่ กทพ.จะเปิดประมูลก่อสร้าง” ประธานบอร์ด กทพ.กล่าว

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า งานออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกจะมีการทดสอบเสถียรภาพ การรับแรงลมของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ตัวใหม่ โดยจะมีแบบจำลองที่จำลองทั้งสะพานพระราม 9 เดิมและสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ตัวใหม่ที่จะก่อสร้างในโครงการฯ เพื่อทดสอบว่าสะพานทั้งสองนั้นจะมีพฤติกรรมการรับแรงลมอย่างไร ซึ่งเป็นการทดสอบและศึกษาครั้งแรกในประเทศ เนื่องจากไม่เคยมีการก่อสร้างสะพานขึงสองสะพานข้างเคียงกันมาก่อน โดยการทดสอบจำลองสะพานขึงในอุโมงค์นั้นใช้อัตราส่วน 1:90 เทียบกับขนาดสะพานจริง

ทั้งนี้ สะพานขึง (Cable Stayed Bridge) เป็นสะพานช่วงยาวที่มีความอ่อนตัวมาก แรงลมที่มากระทบสะพานจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งการทดสอบคืบหน้าไปกว่า 40% แล้ว โดยข้อมูลที่ได้จากการทดสอบนั้นจะนำมาใช้ในการออกแบบสะพานคู่ขนาน ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาในปลายปีนี้

โดยสะพานขึงใหม่จะวางในด้านซ้ายของสะพานพระราม 9 ในทิศทางจากพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังถนนพระราม 2 โดยอยู่ในแนวเดียวกับสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นไปตามความเห็นด้านสิ่งแวล้อมและหลักการออกแบบที่ปลอดภัย โดยช่วงตรงกลางแม่น้ำจะไม่มีเสาเพื่อให้เป็นช่องลอดขนาดใหญ่สำหรับเรือสินค้า โดยโครงสร้างเสาสะพานจะเป็นรูปตัว H

แบบจำลอง การทดสอบเสถียรภาพ การรับแรงลมของสะพานขึงใหม่ คู่ขนานสะพานพระราม 9  ตามโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ผ่านอุโมงค์ลมที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น