“อาคม” หารือไจก้า เดินหน้าแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีตามแนวรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ “บางซื่อ, นครสวรรค์, พิษณุโลก” พร้อมดึงการศึกษา ปตท.พัฒนา “บางซื่อ สมาร์ทซิตี้” ปรับใช้ในแผนเดียวกัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ Mr. Hiroo Tanaka ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA) และคณะ ว่าได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ด้านการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง การใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองข้างทางรถไฟ และสถานี ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น สร้างศูนย์การค้าหรือศูนย์ด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้ซึ่งสูงกว่าการให้เช่า และเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร โดยวางแนวคิดในการพัฒนาระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จะต้องมีแผนการพัฒนาสถานี, พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี และการพัฒนาพื้นที่ของภูมิภาค เป็นการประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน ไปพัฒนาธุรกิจด้วย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือของกระทรวง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาจากญี่ปุ่น ซึ่งเน้นการพัฒนาเป็นชอปปิ้งเซ็นเตอร์
โดยญี่ปุ่นให้ความสนใจการพัฒนาพื้นที่ในและรอบสถานีกลางบางซื่อ ภายในสถานีจะมีร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการศึกษาแผนพัฒนาไว้แล้วเบื้องต้น ขณะที่ทาง ปตท.ได้มีการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบสมาร์ทซิตี้ หรือเป็นย่านธุรกิจใหม่ ซึ่งจะนำแนวความคิดทั้งหมดมาปรับให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยบางซื่อมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับสีลมซึ่งเป็นย่านธุรกิจ โอกาสในการพัฒนาพื้นที่มีมาก
“ทางกระทรวงคมนาคมเพิ่งได้รับรายงานการศีกษาของ ปตท. ซึ่งจะเป็นเรื่องการใช้พลังงาน แนวทางการประหยัดพลังงาน หรือความคุ้มค่าในการมีโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมในพื้นที่ หรือระบบหล่อเย็นร่วมกันของโรงแรม สถานีรถไฟ หรือระบบการบำบัดน้ำเสีย”
ส่วนพื้นที่รอบสถานีจะเป็นความร่วมมือระหว่าง ร.ฟ.ท.กับเทศบาล ซึ่งเลือกที่ จ.นครสวรรค์ และพิษณุโลก จะมีความร่วมมือกันในการจัดรูปที่ดิน แหล่งชอปปิ้ง โรงแรม ที่สร้างประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูง และเมื่อสร้างสถานีใหญ่เป็นฮับแล้วจะต้องกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย เช่น นครสวรรค์ จะมีการพัฒนารถไฟทางคู่ จากแม่สอด-นครสวรรค์ ส่วนพิษณุโลกจะพัฒนาการเชื่อมต่อไปยังสุโขทัย ซึ่งเป็นมรดกโลก เช่น นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 2 ชม. สามารถต่อรถทัวร์ไปเที่ยวสุโขทัยได้โดยใช้เวลาน้อยลง
ทั้งนี้ ในระยะสั้น จากที่ได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐมนตรีคมนาคมของญี่ปุ่นในเรื่องการพัฒนาฝีมือบุคลากร เช่น วิศวกรและช่างรถไฟที่โรงงานมักกะสัน บางซื่อ และธนบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของฝ่ายซ่อมบำรุงโดยญี่ปุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือในการดูงาน ฝึกอบรมที่โรงงานของญี่ปุ่น และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะเข้ารับการฝึกกอบรมด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของพนักงานการรถไฟฯ และในระยะต่อไปจะร่วมกันทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางต่อไปรวมถึงการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศซึ่งจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการเดินรถสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ระหว่างการให้ ร.ฟ.ท.เดินรถเอง หรือให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ย.นี้ และจะครอบคลุมไปถึงโครงการถไฟความเร็วสูงด้วย