“อาคม” ถกรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ดึงไจก้าร่วมศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ช่วยเพิ่มมูลค่าโครงการ ด้าน ผอ.สนข.เผยเสนอนายกฯ ปรับรูปแบบร่วมลงทุน PPP รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง, กรุงเทพ-หัวหิน เป็นสัมปทานทั้งโครงการก่อสร้าง เดินรถและพัฒนาที่ดิน เป็นสัญญาเดียว ระบุจะดึงดูดนักลงทุนมากกว่าแยกรถไฟกับพัฒนาที่ดิน เร่ง ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลเสนอคณะกรรมการ PPP เพิ่มก่อนเปิดประมูล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ร่วมกับรองอธิบดีกรมการรถไฟของญี่ปุ่น ว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ทางญี่ปุ่นจะส่งรายงานผลการศึกษาขั้นสุดท้ายได้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปลายปีนี้ และปี 2560 จะเป็นการออกแบบรายละเอียด ทั้งนี้ ได้สรุปแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน คือ กรุงเทพ-พิษณุโลก, พิษณุโลก-เชียงใหม่
จากการศึกษาสำรวจเส้นทางช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ทางญี่ปุ่นพบปัญหาใน 3 สถานี ช่วงระหว่าง บางซี-บ้านภาชี โดยขอให้ไทยพิจารณาและตัดสินใจ คือ 1. สถานีกลางบางซื่อ เรื่องแบ่งการใช้รางที่เหมาะสม กับรถไฟแต่ละระบบเนื่องจากจะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น, รถไฟความเร็งสูง ไทย-จีน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟทางไกล 2. สถานีดอนเมือง มีพื้นที่เขตทางจำกัด ทางญี่ปุ่นเสนอยกระดับรถไฟความเร็วสูง 3. สถานีอยุธยา มีประเด็นทางเทคนิคเรื่องการปรับรัศมีทางโค้ง ของรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟไทย-จีน ให้สอดคล้องกัน ซึ่งได้มอบการรถไฟฯ ดูสภาพจริงและจัดสรรพื้นที่ให้เรียบร้อย
ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงมีการลงทุนสูง ผลตอบแทนต่ำ จะต้องพัฒนาพื้นที่ภายในสถานี พื้นที่รอบสถานีและพื้นที่เมืองควบคู่ไปด้วย โดยไทยขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยศึกษาเนื่องจากมีประสบการณ์ในการพัฒนาแล้วประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ช่วยศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับไทย และทำแผนพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการพัฒนารถไฟอย่างไร โดยเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก มีสถานีที่จะพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, นครสวรรค์, พิษณุโลก ซึ่งจะสามารถดึงผู้โดยสารที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาป้อนระบบรถไฟความเร็วได้อีกด้วย
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในการ ประชุมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการจัดการอสังหาริมทรัพย์แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 31ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอแนวคิดในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.50 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 152,528 ล้านบาท รวมถึงกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. กรอบวงเงินลงทุน 94,673.16 ล้านบาท ซึ่งจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยให้สิทธิ์เอกชนในการลงทุนก่อสร้างและทำระบบรถไฟ พร้อมสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่รอบสถานี และพัฒนาเมืองไปด้วย จะมีความคุ้มค่าและจูงใจกว่า จากเดิมที่เคยจะแยกสัญญาสัมปทานพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ออกจากสัมปทานงานก่อสร้างและเดินรถ
“รูปแบบนี้จะคล้ายๆ กับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง สีชมพู ที่ให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP 100% โดยรายใดที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุดได้โครงการไป ผมได้อธิบายนายกฯ ลงทุนรถไฟความเร็วสูงว่าหากแยกสัมปทานก่อสร้างและเดินรถ กับเรื่องพัฒนาพื้นที่ออกจากกัน ผู้ลงทุนจะขาดทุน ภายใต้อายุสัมปทาน 30 ปี เพราะรายได้จากค่าโดยสารจะเพียงพอแค่ค่าใช้จ่ายในการเดินรถและค่าซ่อมบำรุงเท่านั้น แต่ค่าลงทุนก่อสร้างงานโยธา ค่าซื้อระบบและรถไฟฟ้ายังไม่ได้คืน แบบนี้ไม่จูงใจให้เอกชนมาลงทุนแน่นอน เท่ากับโครงการไม่เกิด ยกเว้นรัฐจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาและระบบ และให้เอกชนมาเดินรถอย่างเดียว ซึ่งท่านนายกฯ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะการที่รัฐจะใช้งบหลายแสนล้านไปทำโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วก็ขาดทุนจะอธิบายประชาชนไม่ได้ อีกทั้งจะต้องทำให้เห็นว่าหากรัฐต้องลงทุนรถไฟความเร็วสูง เมืองจะเกิดการพัฒนาอย่างไร โดยขอให้ไปดูตัวเลขรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งทาง ร.ฟ.ท.จะต้องทำข้อมูล เพิ่มเติม รวมถึงการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนนั้นเอกชนสามารถเสนอแนวคิด หรือปรับย้ายสถานีได้ หากเห็นว่าการพัฒนาพื้นที่ สถานีที่ออกแบบไว้อาจจะไม่สามารถพัฒนาได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งสามารถร่วมมือกับผังเมืองในการจัดรูปที่ดินหรือเอกชนจะลงทุนซื้อที่ดินมาพัฒนาก็ได้ ขึ้นกับข้อเสนอ