เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--สำหรับชาวจีนหลายๆคนแล้ว น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ทำให้หวนนึกถึงภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งประวัติการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งกลืนกินชีวิตไปหลายพันชีวิต สร้างความเดือดร้อนสาหัสแก่ประชาชนนับล้านๆทั่วแผ่นดินใหญ่
ในปี 2541 นั้น ชาวจีนผจญมหาอุกภัยตลอดสองเดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย. ประชาชนใน 24 มณฑลได้รับความเดือดร้อน โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,400 คน และอีก 220 ล้านคน ตกทุกข์ได้ยากเนื่องจากบ้านเรือนนับไม่ถ้วนถูกน้ำท่วมทำลายพังยับ
ปีนี้ฝนตกหนักมากกว่า แต่กระจายตัวไปตามเขตต่างๆมากกว่า
ฤดูน้ำหลากของจีนปีนี้ มีฝนตกหนักมากกว่าในปี 2541 แต่ฝนตกไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดโดยกระจายตัวไปยังเขตต่างๆ ทำให้ขนาดของอุทกภัยเล็กกว่า พื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแยงซี
เมื่อ 18 ปี ที่แล้ว มหาอุทกภัยเลวร้ายกว่ามากและกระจายตัวมากกว่า ส่งผลกระทบไปถึงแม่น้ำหมินในมณฑลฝูเจี้ยน แม่น้ำไข่มุกในมณฑลก่วงตง แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเนิ่น และแม่น้ำซงฮวาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
มาตรการป้องกันน้ำท่วมที่แข็งแกร่งกว่า
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มงบประมาณลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำ
เฉพาะในส่วนของรัฐบาลกลาง ได้ทุ่มงบประมาณ 17,000 ล้านหยวน ลงทุนผุดโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำจากปี 2541 ถึงปี 2545 ซึ่งมากเป็น 4 เท่าของงบประมาณด้านเดียวกันนี้ในปี 2492 ถึงปี 2541
โดยมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ทุ่มเทให้กับมาตรการป้องกันน้ำท่วม
การสร้างเขื่อนสามโตรก ซึ่งทุบสถิติเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก มีเป้าหมายควบคุมน้ำท่วมในบริเวณตอนบนของแม่น้ำแยงซี โดยสามารถสกัดน้ำมากกว่า 200 ล้านล้านตารางเมตรในช่วงวิกฤตน้ำท่วม
ความเสี่ยงน้ำท่วมในเขตเมืองมีมากขึ้น
ปัจจุบันผู้อาศัยในเขตเมืองของจีน มีสัดส่วนเท่ากับ 56 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เทียบกับเมื่อปี 2541 ซึ่งมีผู้อาศัยในเขตเมืองเพียง 30 เปอร์เซ็นต์
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าขณะที่จำนวนผู้อาศัยในเมืองมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการน้ำและการวางแผนเป็นไปอย่างช้าและตามไม่ทันสถานการณ์
การก่อสร้างขนาดมหึมาตามเมืองต่างๆยังส่งผลกระทบต่อระบบน้ำในธรรมชาติ และสร้างความเสี่ยงน้ำท่วมในจุดที่มีการก่อสร้างหนาแน่น