ไชน่าเดลี รายงาน (5 ส.ค.) อ้างคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านการรถไฟจีนว่า แผนเส้นทางรถไฟข้ามหิมาลัยอันเป็นพื้นที่ภูเขาสูงที่สุด ปกคลุมด้วยหิมะ และธารน้ำแข็งเก่าแก่นั้น ไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการสร้างทางรถไฟของจีนในปัจจุบัน ซึ่งสร้างทางรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางกว่า 19,000 กิโลเมตรนี้ จีนกำลังจะเริ่มสร้างทางรถไฟสายหิมาลัย-ทิเบต เชื่อมเมืองซิกาเจอ เมืองใหญ่อันดับสองของทิเบต ผ่านตรงไปสู่อำเภอจี๋หลงทางตอนใต้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนจีนและเนปาล
นักวิจัยฯ กล่าวในการประชุมที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) ว่าเส้นทางนี้จีนจะไม่ใช้รถไฟความเร็วสูง ด้วยวิ่งระดับความเร็วที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ ในปี 2549 จีนได้สร้างทางรถไฟระยะทาง 1,100 กิโลเมตรเชื่อมที่ราบสูงทิเบตกับส่วนต่างๆ ของประเทศ และในปี 2556 ได้สร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงลาซา ทิเบต กับ ซีกาเจอ ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางซิกาเจอ - จี๋หลง อยู่ในแผนการรถไฟปี 2559 - 2563
ประธานาธิบดีราม บารัน ยาดาฟ ของเนปาล เคยกล่าวว่า เส้นทางรถไฟสายหิมาลัยนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของเนปาล ที่ต้องการเสนอให้พัฒนาถนนและการจราจรทางอากาศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นธุรกิจการค้าระดับทวิภาคีและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประเทศเนปาลถือเป็นจุดขนส่งและกระจายสินค้าแห่งสำคัญระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้ และยังเป็นแก่นกลางหลักในการขยับขยายการค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกระทำผ่านเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต โดยทางรถไฟส่วนต่อขยายซิกาเจอ-จี๋หลง ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ได้แสดงการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรระหว่างสองประเทศที่ดียิ่งขึ้น
รัฐบาลเนปาล ยังคาดหวังเส้นทางเชื่อมจากจี่หลงนี้จะต่อมายังกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล เพื่อให้เป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศจีน-เนปาล ตามนโยบาย 'เข็มขัดเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม' (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st-Century Maritime Silk Road)ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
กาฐมาณฑุ โพสต์ รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า มีบริษัทจีนอย่างน้อย 2 ราย ที่เสนอแผนงานสร้างทางรถไฟสายนี้ อาทิ China CAMC Engineering Co จะสร้างทางรถไฟระยะ 121 กิโลเมตรเชื่อมกาฐมานฑุ กับ ราสุวากาธิ ขณะที่หน่วยงานการรถไฟจีนก็ได้เสนอแผนการศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางกาฐมานฑุ-ราสุวากาธิ นี้กับหน่วยงานการรถไฟ ประเทศเนปาลแล้ว
หม่า เจี่ยหลี่ นักวิจัยฯ จากสถาบันความสัมพันธ์ร่วมสมัยฯ ระหว่างประเทศจีน กล่าวว่า ทางรถไฟหิมาลัยจะสร้างเศรษฐกิจมหาศาลหากเชื่อมประเทศจีนกับเอเชียใต้ และอินเดีย
โจว ยู่หุย ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยจิงเจียวทง ที่เด่นดังด้านวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า เพิ่งจะกลับจากการศึกษาพื้นที่ชายแดนจีน-เนปาล พบความสมบูรณ์พร้อมทางการท่องเที่ยวธรรมชาติ ทรัพยากรป่าบริสุทธิ และดินแดนประวัติศาสตร์
"นักท่องเที่ยวและธุรกิจต่างขยายมาที่จี่หรง ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนในท้องถิ่นมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี" โจว ยู่หุย กล่าวฯ