xs
xsm
sm
md
lg

พบหลักฐานจาก “ยุคพระเจ้าเหา” ชิ้นใหม่ล่าสุด ชี้อารยธรรมจีนเริ่มหลังมหาอุทกภัย 4,000 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วารสารวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Science Magazine) ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. เผยทีมนักวิทยาศาสตร์จีน-สหรัฐฯได้ค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยในยุคโบราณของจีน โดยเหตุการณ์มหาอุภัยนี้อาจเป็นเหตุการณ์เดียวกับตำนาน “ต้าอี่ว์ปราบมหาอุทกภัย” ขณะเดียวกันยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่จริงของราชวงศ์เซี่ย ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ระบุเป็นราชวงศ์แรกของจีน ในภาพ: ตะกอนบริเวณโตรกจี๋สือซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นภาพของทีมฯที่ค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับมหาอุทกภัยยุคโบราณ(ภาพ ซินหวา)

MGR ONLINE/ไชน่า เดลี่--เอกสารประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกเรื่องราวมหาอุทกภัยเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว โดยน้ำท่วมใหญ่ครั้งโบราณนั้น กินเวลาเกือบ 20 ปี เริ่มจากยุคพระเจ้าเหยา (หรือที่ชาวไทยบางกลุ่มเรียก “พระเจ้าเหา” โดยมีข้อสันนิษฐานแบบหนึ่งว่าคือ พระเจ้าเหยาของจีน) จนในที่สุดผู้ที่สามารถแก้ไขน้ำท่วมใหญ่นี้ได้สำเร็จคืออี่ว์ และได้กลายเป็นตำนานเล่าขาน เกี่ยวกับ “ต้าอี่ว์ปราบอุทกภัย” (大禹治水)

เรื่องราวต้าอี่ว์ หรืออี่ว์ผู้ยิ่งใหญ่ ปราบมหาอุทกภัย คงยังเป็นเรื่องเล่าปรัมปรา ที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงมาโดยตลอด

กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จีน-สหรัฐฯได้เผยแพร่รายงานในวารสารวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Science Magazine) ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. เกี่ยวกับการค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า “เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงยุคโบราณดังกล่าวจริง” และยังเป็นหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันการมีอยู่จริงของราชวงศ์เซี่ย (ราว 2,100 -1,700 ปี ก่อนค.ศ.) ที่บันทึกประวัติศาสตร์ทั่วไประบุเป็นราชวงศ์กษัตริย์ลำดับแรกของจีน (แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของราชวงศ์นี้ก็ตาม)

ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่นำทีมโดย อู๋ ชิ่งหลง (吴庆龙) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์มัล นครหนันจิง (Nanjing Normal University) ได้ค้นพบซากร่องรอยดินถล่มขนาดใหญ่ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ดินถล่มดังกล่าวได้ปิดกั้นแม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นบริเวณมณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือในปัจจุบัน ดินถล่มได้ปิดกั้นแม่น้ำเหลืองอยู่ 6 ถึง 9 เดือน ขณะเดียวกันระดับน้ำก็ขยับสูงขึ้นๆ กลายเป็นทะเลสาบความลึก 650 ฟุต จนน้ำได้ท่วมตัวเขื่อนมิด โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำท่วมใหญ่ในยุคนั้นตกราว 1,920 ก่อนค.ศ. มวลน้ำมหึมาสูงเท่ากับตึก 30 ชั้น ทะลักไหลออกมา ท่วมแผ่นดินตอนล่างของแม่น้ำไกลถึง 2,000 กิโลเมตร

น้ำท่วมใหญ่ในบริเวณแม่น้ำเหลืองที่มีความยาวเป็นอันดับสามของทวีปเอเชียนี้ กินเวลายาวนานถึงเกือบ 20 ปี นับเป็นมหาอุทกภัยใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 10,000 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องเล่าปรัมปราของจีนเกี่ยวกับ “น้ำท่วมใหญ่”

“ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีหรือปรากฏหลักฐานยืนยันเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่เล่าขานกันในฐานะตำนาน” อู๋กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา

“ทีมขุดค้นของเราได้ค้นพบตะกอนจากเขื่อนโบราณในปี 2007 ที่บริเวณโตรกจี๋สือ (积石峡) ที่อยู่ตรงชายขอบที่ราบสูงทิเบต ตะกอนเหล่านี้เป็นชนิดเดียวกับตัวอย่างตะกอนที่พบบริเวณตอนล่างของแม่น้ำที่ไกลออกไปนับหลายไมล์ ซึ่งเป็นจุดที่พบซากโครงกระดูก 14 ชุด ที่ถูกทำลายจากเหตุแผ่นดินไหวที่อุบัติขึ้นก่อนหน้ามหาอุทกภัย

เหตุการณ์มหาอุทกภัยนี้ได้สร้างตำนานอีกเรื่อง คือ “ต้าอี่ว์” หรือ “อี่ว์ผู้ยิ่งใหญ่” ตามบันทึกฯระบุว่าอี่ว์เป็นผู้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ได้สำเร็จ และทำให้แม่น้ำเหลืองกลับสู่ภาวะปกติ

เรื่องเล่าขานจากตำนานระบุว่า อี่ว์ได้สั่งขุดคลองชักน้ำกลับสู่เส้นทางดั้งเดิม หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์เซี่ย ขึ้นเป็นราชวงศ์แรกของจีน

David Montgomery นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศและโลกประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า “จากเรื่องราวในตำนาน ที่ว่าอี่ว์และพรรคพวกใช้เวลากว่าสิบปีในการควบคุมน้ำท่วมได้สำเร็จนั้น สอดคล้องกับหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ทีมของอู๋ได้นำมาแสดง

“เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำในแม่น้ำใหญ่ขนาดนั้น ต้องใช้เวลานานมากจึงจะสำเร็จ น้ำท่วมใหญ่กินเวลานานกว่าสิบปี จนกกระทั่งล่วงเข้าสู่ยุคของอี่ว์ อีกทั้งการใช้เวลาอีกนับสิบปีจึงสามารถเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำและควบคุมน้ำท่วมได้” นาย Montgomery กล่าว

แม้ว่าในบันทึกประวัติศาสตร์ทั่วไประบุราชวงศ์เซี่ยเป็นราชวงศ์กษัตริย์ยุคแรกของจีน แต่กลุ่มนักประวัติศาสตร์ทั่วไปก็สงสัยการมีอยู่จริงของราชวงศ์เซี่ย และชี้ว่าปริศนาน้ำท่วมใหญ่เป็นเรื่องเล่าขานจากปากสู่ปากเพื่อเชิดชูราชวงศ์กษัตริย์จีน

นายเดวิด โคเฮน (David Cohen) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) และหนึ่งในผู้เขียนรายงานการค้นพบฯชิ้นนี้ กล่าวว่าการค้นพบหลักฐานนี้ นับเป็นเบาะแสที่เร่าใจมาก เนื่องจากมันได้ชี้ถึงการมีอยู่จริงของราชวงศ์เซี่ย

อู่ หัวหน้าคณะผู้จัดการรายงาน จบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์โลก ที่มหาวิทยาลัยหนันจิง ปี 1997 ปริญญาโทด้านธรณีวิทยา และปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระหว่างปี 2009-2012 เขาได้ทำการวิจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ธรณีสัณฐานวิทยา ภูมิศาสตร์โบราณคดี
ภาพบริเวณโตรกจี๋สือซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นภาพของทีมฯที่ค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับมหาอุทกภัยยุคโบราณ(ภาพ ซินหวา)

ซากตะกอนที่ค้นพบใหม่นี้เป็นชนิดเดียวกับตัวอย่างตะกอนที่พบบริเวณตอนล่างของแม่น้ำที่ไกลออกไปนับหลายไมล์ ซึ่งเป็นจุดที่พบซากโครงกระดูก 14 ชุด ที่ถูกทำลายจากเหตุแผ่นดินไหวที่อุบัติขึ้นก่อนหน้ามหาอุทกภัย (ภาพ ซินหวา)

กำลังโหลดความคิดเห็น