เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า พืชบางชนิดมีความสามารถในการพยากรณ์อากาศ และยังอาจมีคุณสมบัติบางอย่าง ที่สามารถต่อกรกับภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าที่เคยคิดกันมาก่อนอีกด้วย
พืชคุณสมบัติ อันน่ามหัศจรรย์นี้ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่เด่น เช่น ต้นกกบ็อก ( bog sedge) ขึ้นอยู่บนที่ราบสูงทิเบต โดยมันสามารถทำนายการเกิดลมมรสุมอินเดีย และบอกให้ทราบได้ด้วยการคลี่ใบ ก่อนลมพายุจะพัดมาถึง
รายงานผลการค้นพบครั้งนี้ เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างคณะนักวิทยาศาสตร์จีนและยุโรป พิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ไซเอนทิฟิก รีพอร์ตส์ ( Scientific Reports) เมื่อเร็วๆ นี้
“ พวกมันดูเหมือนจะมีระบบพยากรณ์อากาศ ที่สลับซับซ้อน มันน่าพิศวงจริงๆ ” ศาสตราจารย์ หลัว เทียนซิง แห่งสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต ในสังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ที่กรุงปักกิ่งเปิดเผย โดยเขาเป็นหัวหน้านักวิจัยคณะนี้
ลมมรสุมอินเดียจัดเป็นลมประจำฤดู ซึ่งมีกำลังแรงจัด และซับซ้อนมากที่สุดในโลก โดยในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของปี จะมีลมพัดจากมหาสมุทรอินเดียไปยังภูมิภาคทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หอบฝนมหึมาตกลงมา ทว่าวันเวลาที่ลมมรสุมอินเดียจะมาถึงและกินเวลานานเท่าใดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี
ศาสตราจารย์หลัวและคณะใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลการสังเกต ที่ได้จากสถานีวิทยาศาสตร์ 5 แห่ง บนที่ราบสูงทิเบตนานกว่า 20 ปี และยังทำการทดลองอีก 7 ปีบนไหล่เขา อันห่างไกล ในเขต ดัมซุง ( Damxung) ของทิเบต เพื่อทดลองและพิสูจน์ทฤษฎี
เรื่องหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คณะนี้สนใจได้แก่อุณหภูมิอากาศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน จะรบกวนนาฬิกาชีวภาพของพืชหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิตกว่า ระบบนิเวศบนที่ราบสูงทิเบตอาจอ่อนไหวเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เหตุผลหนึ่งก็เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่
ทั้งนี้ ในฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นและแห้งแล้ง พืชหลายชนิดจะม้วนใบเพื่อปกป้องตัวเอง บางคนเกรงว่า ในกรณีฤดูหนาว ที่มีอากาศอบอุ่นผิดกว่าปกติ พืชเหล่านี้อาจม้วนใบเร็วขึ้นก็เป็นได้
ทว่าคณะของศาสตราจารย์หลัวค้นพบว่า พืชบนขุนเขาทิเบตกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันคลี่ใบ ทั้งที่อุณหภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง
“ทิเบตเป็นดินแดน ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ สภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมือนใคร อาจทำให้ในช่วงวิวัฒนาการเมื่อหลายล้านปีก่อน พืชได้พัฒนาความสามารถพิเศษขึ้นมาก็ได้” ศาสตราจารย์หลัวอธิบาย
เขาชี้ว่า พืชบนที่ราบสูงทิเบตมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเข้าใจกัน พวกมันอาจเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมาแล้วมากมายหลายครั้ง ก่อนมนุษย์พวกแรกจะอุบัติขึ้น กระทั่งสามารถมีชีวิตรอดมาจนถึงยุคสมัยใหม่ และอาจติดอาวุธในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมากกว่าที่เรารู้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคำถาม ที่นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า พืชตระกูลหญ้านี้สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างไร เช่นนาฬิกาชีวภาพของมันเดินคล้องจองกับจังหวะในการก่อตัวของไอน้ำเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตรได้อย่างไร หรือว่า พืชบนที่ราบสูงทิเบตมีกลไกทางโมเลกุลพิเศษบางอย่าง
หญ้าบางชนิดอาจมี “ขั้นตอนวิธีการ” ในการคำนวณเวลาการเกิดมรสุม เช่น คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น องศาของแสงแดด และความเร็วลม โดยการทำแผนที่พันธุกรรมจะสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้
คณะนักวิทยาศาสตร์สรุปในตอนท้ายด้วยว่า เรายังมีความรู้กันน้อยเกี่ยวกับพืชป่าอีกมากมายบนดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้