xs
xsm
sm
md
lg

อากาศที่ราบสูงทิเบต สะอาดดุจขั้วโลกฯ จีนคุมเข้มเหมืองฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนรถไฟสายหลังคาโลก ชิงไห่-ทิเบต ซึ่งแล่นผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนของ ‘หลังคาโลก’ (ที่ราบสูงทิเบต) อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 1,650-6,860 เมตร พื้นที่เป็น เขาสูง ทะเลสาบ ทุ่งหญ้าและทะเลทราย (ภาพเอพี)
ไชน่าเดลี่ - นักวิจัยสภาพอากาศ เผย (18 พ.ย.) รายงานสภาพแวดล้อมในเขตที่ราบสูงทิเบตซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ที่ตรวจสภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งบรรยากาศ น้ำ ระบบนิเวศน์ ผิวดิน ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอื่นๆ โดยยึดดัชนีวัด 26 รายการ ครอบคลุมทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝน ธารน้ำแข็ง ผิวหิมะปกคลุมและทะเลสาบ

รายงานยังได้คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เขตที่ราบสูงดังกล่าวในศตวรรษหน้า พร้อมกับผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อเผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หน่วยงานที่ปรึกษาใหญ่รัฐบาลจีน ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 70 คนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เริ่มทำงานวิจัยในพื้นที่ราบสูงทิเบต เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และมีพื้นที่เป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ ประมาณ 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร บนระดับความสูงโดยเฉลี่ย 4,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล อีกทั้งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญหลายสายได้แก่ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซี แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง แม่น้ำพรหมบุตร

ล่าสุด รายงานวิจัยดังกล่าวเผยว่า สภาพอากาศของภูมิภาคที่ราบสูงทิเบตนี้ ยังคงเป็นหนึ่งในเขตที่มีอากาศสะอาดบริสุทธิที่สุดในโลก

"ค่าดัชนีมลพิษสภาพแวดล้อมในที่ราบสูงทิเบตนั้น ยังคงต่ำเทียบเท่ากับพื้นที่ขั้วโลกเหนือ (ภูมิภาคอาร์กติก)" สถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีนเผย

เมื่ออ้างข้อมูล ทะเลสาบและน้ำแข็งนั้น รายงานกล่าวว่า มลพิษในอากาศของที่ราบสูง อาทิ ผงฝุ่นคาร์บอน หรือผงฝุ่นเขม่าดำ ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ต่างๆ และฝุ่นโลหะหนักมีปริมาณสูงกว่าเมื่อช่วงปีค.ศ. 1950 ราวสองเท่า โดยพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียกลาง คือที่มาของมลพิษคาร์บอนและความร้อนในชั้นบรรยากาศโลก การสะสมผงฝุ่นคาร์บอน ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ และภาคกลางของที่ราบสูง ในศตวรรษนี้ สูงเป็นสามเท่าของค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1950 และ 1980

"ปัจจุบัน มลพิษคาร์บอนในที่ราบสูงทิเบต อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณมลพิษคาร์บอนในเขตเทือกเขาแอลป์ ในฝรั่งเศสและอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเขตอาร์กติก"

แม้ว่าระดับของฝุ่นละอองสารโลหะหนักที่บันทึกได้จากน้ำแข็งและทะเลสาบ ของที่ราบสูงจะมีค่าสูงกว่า หรือใกล้เคียงกับเขตขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ แต่ก็ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอื่นๆ

นอกจากนี้ สารมลพิษอินทรีย์ถาวร หรือ สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (persistent organic pollutants : POPs) ในอากาศ ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งใกล้เคียงหรือต่ำกว่าในภูมิภาคอาร์กติกและเทือกเขาแอลป์

ด้านความเสี่ยงของภัยพิบัติในเขตที่ราบสูงนั้น รายงานระบุว่า จะเพิ่มขึ้นตามสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของที่ราบสูงทิเบตมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 โดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้แถลงเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปิดกิจการเหมืองซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 40 แห่ง

ความมุ่งหวังของรัฐบาลท้องถิ่นเขตปกครองตนเองทิเบต ในการที่จะปกป้องระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมที่เปราะบางในที่ราบสูงทิเบต ยังส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่น ออกกฎห้ามดำเนินกิจการเหมืองทองคำตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2549 และเหมืองโลหะ ในปี พ.ศ. 2551

รัฐบาลยังได้เริ่มฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และปรับปรุงเหมืองหลายแห่งที่มีปัญหาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 รื้อคุมเข้มโครงการต่างๆ กว่า 56 โครงการที่ดำเนินการในปี 2553 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 77 ตารางกิโลเมตร

สำหรับทิเบตซึ่งมีแร่ธาตุใต้ดินหลากหลายมากกว่า 102 ชนิด นั้น รัฐบาลท้องถิ่นกำชับควบคุมกิจการเหมืองอย่างเข้มงวด และเหล่ากิจการเหมืองที่ได้รับอนุญาตยังจำกัดเฉพาะพื้นที่เพียง 749.62 ตารางกิโลเมตร (น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของพื้นที่ภูมิภาคทิเบตทั้งหมด)

นอกจากนั้น ในการสำรวจสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ตลอดเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ซึ่งเป็นทางรถไฟที่วิ่งอยู่บนพื้นที่สูงที่สุดในโลกนี้ ก็พบว่ามีการปรับสภาพฟื้นตัวหลังจาก 5 ปีที่เปิดให้บริการฯ

รายงานกล่าวว่า มาตรการคุ้มครองระบบนิเวศน์ซึ่งดำเนินไประหว่างและหลังการก่อสร้างทางรถไฟได้เป็นไปอย่างมั่นใจว่า นี่คือเส้นทางรถไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมลพิษสิ่งแวดล้อมถูกควบคุมอยู่ต่ำกว่าระดับที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่นิเวศน์อัลไพน์ และสภาพแวดล้อมของธรณีวิทยาชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ก็ยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพตลอดหลายปีมานี้ เช่นเดียวกับภูมิทัศน์และระบบนิเวศน์ภูมิภาคก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม

รายงานระบุว่า จากการสำรวจในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาตลอดเส้นทางรถไฟสายนี้ ซึ่งมีความยาวกว่า 1,956 กิโลเมตร เริ่มให้บริการในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2549 เป็นรถไฟที่วิ่งบนราบสูงที่สูงที่สุดและยาวที่สุดในโลก และยังเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกที่เชื่อมระหว่างเขตปกครองตนเองทิเบตกับส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน เส้นทางดังกล่าวยังไม่ก่อผลกระทบต่อพืชพรรณใดๆ อีกทั้งไม่พบพันธุ์พืชต่างถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น