xs
xsm
sm
md
lg

สุดเศร้า ! บรรพบุรุษดอกโบตั๋น "ราชาแห่งมวลบุปผา" ใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งหนึ่งโบตั๋นเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติของจีน
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักพฤกษศาสตร์ของจีนสามารถไขความลับเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดอกโบตั๋น ที่ปลูกอยู่บนแดนมังกรมานานกว่า 1,000 ปี แต่หามีใครรู้จักรากเหง้าบรรพบุรุษของ “บุปผาราชัน” ฉายาแห่งไม้ดอก ซึ่งมีความงามเลื่องลื่อไปไกลนี้ไม่

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาค้นคว้าดังกล่าว ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “ Proceedings of the Royal Society B” เมื่อต้นเดือนม.ค. 2558 ก็ทำให้บรรดาคนรักดอกไม้ต้องใจหาย

โบตั๋นเป็นพรรณไม้ท้องถิ่นในจีน ยามออกดอกผลิบานจะสวยงามหลากหลายสีสัน ส่งกลิ่นหอมจรุง กระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำชาติมาจนกระทั่งดอกบ๊วยรับตำแหน่งแทนในปี 2472

นอกจากนั้น นางเผิง ลี่หยวน ภรรยาท่านประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในเมืองเหอเจ๋อ มณฑลซานตง “เมืองแห่งดอกโบตั๋น” ก็มักนิยมนำราชาแห่งดอกไม้มาแต่งแต้มบนเสื้อผ้า ที่เธอสวมใส่ เมื่อออกงานอย่างเป็นทางการ หรือมอบเป็นของขวัญแด่แขกเหรื่อต่างชาติ

เคยเกิดความฉงนฉงายกันมานานว่า เหตุใดสีสันของดอกโบตั๋นจึงวิจิตรตระการตาได้ถึงปานนี้ ทฤษฎีหนึ่งระบุว่า เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของไม้โบตั๋นป่าจำนวนหนึ่ง ทว่านักพฤกษาศาสตร์ยังขาดหลักฐานมายืนยันสมมุติฐาน

กระทั่งในที่สุด คณะนักวิจัยจากสถาบันพฤกษศาสตร์ภายใต้สังกัดของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งนำโดยหง เต๋อหยวน ก็สืบสาวไปจนค้นพบต้นกำเนิดแห่งความงาม อันน่าประหลาดนี้จนได้

พรรณไม้โบตั๋น ซึ่งพบเห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน แท้ที่จริงก็คือลูกผสมของต้นโบตั๋นพันธุ์พ่อแม่ 5 สายพันธุ์ ที่อยู่ในป่าแถบภาคกลางประเทศจีน แต่สายพันธุ์แท้ดั้งเดิมเหล่านี้กำลังจะสูญหายตายไปจากโลกนี้เกือบทั้งหมดแล้ว

“ ถ้าไม่รีบป้องกันในทันที พันธุกรรมบรรพบุรุษของโบตั๋นจะหายสาปสูญไปอย่างรวดเร็วทั้งหมด” ศาสตราจารย์หงแห่งห้องปฏิบัติการพฤกษศาสตร์วิวัฒนาการและจำแนกพวก (State Key laboratory of Systematic and Evolutionary) ระบุ

ปัจจุบันโบตั๋นป่าพบเห็นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม นักพฤกษศาสตร์ต้องเก็บตัวอย่างให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์พันธุกรรมและสร้างแผนที่วิวัฒนาการของโบตั๋น

งานวิจัยค้นคว้าชิ้นนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2528 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน โดยมีการรวบรวมตัวอย่างต้นโบตั๋นในจีนและจากทั่วโลก

ศาสตราจารย์หงและคณะค้นพบโบตั๋นป่าทั้งหมด 9 สายพันธุ์ ยืนต้นอยู่ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ที่ราบสูงทิเบต ไปจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง ทั้งหมดมีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในจีน โดย 5 สายพันธุ์ในจำนวนนี้อยู่ในบริเวณศูนย์กลางวัฒนธรรมของจีน เช่นมณฑลเหอหนัน และส่านซี และมีการผสมข้ามสายพันธุ์ จนกลายเป็นโบตั๋นลูกผสม ที่เราพบเห็นกันอยู่ทั่วไปในขณะนี้

นอกจากความสวยงามแล้ว เปลือกไม้โบตั๋นยังเป็นส่วนผสมสำคัญในการปรุงยาตามสูตรการแพทย์แผนจีน แต่ความหลากหลายของโบตั๋นสายพันธุ์ป่า ทีเคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้เกือบไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะขาดการอนุรักษ์คุ้มครอง

" ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ P. Cathayana ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อแม่ของโบตั๋นส่วนใหญ่นั้น เราพบเหลืออยู่เพียงต้นเดียวบนเทือกเขาด้านใต้ของเมืองลั่วหยาง" นักพฤกษศาสตร์คณะนี้ระบุในรายงาน

" Paeonia ostii ก็พบมีอยู่เพียงต้นเดียวบนหน้าผาในมณฑลอันฮุย โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประชากรในป่าของโบตั๋นสายพันธุ์พ่อแม่ถูกกำจัดไปจนเกือบจะสูญสิ้นหมดแล้ว"

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในบางแห่งของจีนไม่ยินดี ที่จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์บรรพบุรุษของต้นโบตั๋นเหล่านี้ เนื่องจากเป็นโครงการ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วทันตาเห็นนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น