เอเจนซี - จีนเผยแผนสำรวจแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลในดินแดน “หลังคาโลก” โดยเล็งขุดเจาะหลุมลึกเกือบ 10 กม.ในเขตที่ราบสูงทิเบต ด้านผู้เชี่ยวชาญหวั่นส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ สื่อจีน อ้างรายงานของนายหลี่ ไห่ปิง ศาสตราจารย์ประจำสถาบันธรณีวิทยา สำนักวิชาธรณีวิทยาแห่งชาติจีน ระบุว่ารัฐบาลกลางกำลังพิจารณาทบทวนโครงการสำรวจ “พื้นโลกระดับลึก” (deep-earth) ซึ่งเสนอโดยกลุ่มนักธรณีวิทยาจีนชื่อดัง ที่จะขุดเจาะหลุมลึกมากกว่า 10 กม. ในพื้นที่บางแห่งของประเทศ เพื่อค้นหาตัวอย่างศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมี “ทิเบต” เป็นหนึ่งในดินแดนที่คาดว่าจะสร้างผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล
ทางการจะส่งทีมสำรวจเข้าปฏิบัติการขุดเจาะหลุมที่มีความลึกราว 7 กม. บนเขตที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) ขนาด 1.3 ล้านตร.กม. และสูง 4,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล จนได้ชื่อว่าเป็น “หลังคาโลก” โดยตั้งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มีสภาพอากาศเบาบาง ไร้สิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งช่วยปกป้องทิเบตจากโครงการสำรวจหรือขุดเจาะมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการลดการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากต่างชาติ จึงทุ่มเงินสนับสนุนแก่วงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศอย่างเต็มกำลัง โดยนักวิทยาศาสตร์จีนที่ใกล้ชิดกับโครงการเจาะหลังคาโลกนี้เผยว่า หลุมดังกล่าวจะมีความลึกมากที่สุดเท่าที่เคยขุดเจาะบนพื้นที่ระดับสูงเช่นนี้
อนึ่งหลุมที่ลึกที่สุดในโลกจากฝีมือมนุษย์คือ หลุมเจาะสำรวจโคลา (Kola Superdeep Borehole) ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรโคลา (Kola) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย โดยมีความลึกถึง 12,262 เมตร หรือประมาณ 12 กม.จากพื้นดิน
ทว่าศาสตราจารย์ไห่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับพิกัดสถานที่การขุดเจาะ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันมีรัฐเป็นเจ้าของรายใดจะได้เข้ามาดำเนินโครงการนี้ โดยเขาเผยเพียงว่า โครงสร้างทางธรณีอันเปราะบางซึ่งง่ายต่อการพังทลาย ทำให้ที่ราบสูงทิเบตเป็นพื้นที่ที่ท้าทายฝีมือนักขุดเจาะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
“ปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนในที่สูงก็จะบั่นทอนพละกำลังของคนงานและเพิ่มความเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น” หลี่กล่าว
ขณะที่ซีเอ็นพีซี (China National Petroleum Corporation: CNPC) และซิโนเปค (China Petroleum and Chemical Corporation: Sinopec) สองบริษัทผู้ประกอบการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของจีน มิตอบรับการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวจากเซาท์ไชน่าฯ
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของสองบริษัทพบว่า ทั้งคู่ได้บุกเบิกการสำรวจอาณาจักรหลังคาโลกอย่างต่อเนื่องมานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยซีเอ็นพีซีเข้าสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำเฉียงถังทางตอนกลางในปี 2538 และประเมินว่าอาจมีน้ำมันดิบสำรองซุกซ่อนอยู่กว่า 10,000 ล้านตัน หรือมากกว่า 70,000 ล้านบาร์เรล ต่อมาในปี 2540 ซิโนเปคได้ตั้งศูนย์สำรวจขึ้นครั้งแรกในเมืองน่าชีว์ โดยมีเป้าหมายจัดทำแผนที่เพื่อสำรวจการเกิดแผ่นดินไหว และการขุดเจาะเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด
ส่วนเว็บไซต์ของกระทรวงที่ดินและทรัพยากรของจีนระบุว่า ในเดือน ส.ค. ปีก่อน หน่วยสำรวจทางธรณีวิทยา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ลงนามในข้อตกลงการสำรวจ มูลค่า 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) กับซิโนเปค หลังจากตรวจพบว่าทิเบตอาจมีศักยภาพด้านน้ำมันและแร่ธาตุในระดับดีเยี่ยม
ทั้งนี้ จีนพยายามรักษาภาพรวมการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทิเบต ให้อยู่ในระดับไม่เป็นที่สังเกตมากนัก เนื่องจากประเด็นความอ่อนไหวโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาที่ส่อเค้ารุนแรงเรื่อยมา ทว่าแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งมีแนวโน้มก่อประโยชน์ทางการค้า อาจช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของชาวทิเบตให้ดียิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์เว่ย เหวินปัว นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาแห่งชาติจีน และผู้เชี่ยวชาญลักษณะทางธรณีของที่ราบสูงทิเบต กล่าวว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงถึงศักยภาพด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แท้จริงของทิเบต โดยพวกเขาต่างหวังว่าตัวอย่างที่จะได้จากหลุมลึก 7,000 เมตรนั้น จะคลี่คลายข้อสงสัยทั้งหมดให้กระจ่างชัด
“ทิเบตถือเป็นหนึ่งในอาณาเขตบริสุทธิ์แห่งสุดท้ายของโลกสำหรับการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ จึงดึงดูดความสนใจจากนักทำเหมืองและนักขุดเจาะทั้งในและนอกประเทศ”
อย่างไรก็ดี เว่ยชี้ว่าโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินทุนขนานใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการขุดเจาะบนที่สูงซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะดันยอดค่าใช้จ่ายแรงงานและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้นการทำเหมืองจะส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศวิทยาอันบอบบางของทิเบตอย่างไม่อาจเรียกคืนได้ จึงควรศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และประเมินความเสี่ยงก่อนจะอนุมัติโครงการทางธุรกิจนี้