เอเยนซี - จีนเปิดบริการสนามบินแห่งใหม่ เต่าเฉิงย่าติง แอร์พอร์ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสนามบินพลเรือนที่อยู่บนภูมิประเทศที่สูงที่สุดในโลกแห่งล่าสุด
สื่อจีนรายงาน (17 ก.ย.) ว่า ทางการจีนได้เปิดให้บริการ สนามบิน เต่าเฉิง ย่าติง แอร์พอร์ตซึ่งเป็นสนามบินพลเรือนที่อยู่บนภูมิประเทศที่สูงที่สุดในโลก ที่อำเภอเต่าเฉิง แคว้นปกครองตนเองชนชาติทิเบตการ์เจ๋อ (Garze) ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) โดยตั้งอยู่บนพื้นที่สูง 4,411 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สูงกว่า สนามบินปังต๋าของเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,334 เมตร
รายงานข่าวกล่าวว่า เต่าเฉิงย่าติง แอร์พอร์ต สนามบินแห่งใหม่นี้ สร้างด้วยงบประมาณ 1,580 ล้านหยวน สามารถรองรับผู้โดยสาร ได้เฉลี่ย 280,000 คนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของอุทยานย่าติงซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของแคว้นฯการ์เจ๋อ ห่างจากเมืองเต่าเฉิง 130 กม. โดยจะช่วยให้การเดินทางไปมาระหว่างเต่าเฉิง - เฉิงตู รวดเร็วเพียง 65 นาที ซึ่งก่อนหน้าต้องเดินทางโดยรถยนต์นาน 2 วัน
เที่ยวบินระหว่างเต่าเฉิง-เฉิงตู เป็นเที่ยวประเดิมของสนามบินใหม่นี้ที่เปิดบริการในวันจันทร์(16 ก.ย.) ส่วนเที่ยวบินในเส้นทางอื่นๆ จะเริ่มเปิดในปลายเดือนนี้
สำหรับการออกแบบสนามบินแห่งนี้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีสภาพอากาศเบาบางมาก จึงออกแบบให้มีรันเวย์ยาวมาก ถึง 4,200 เมตร สั้นกว่ารันเวย์ที่ยาวที่สุดของสนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในมหานครนิวยอร์ก เพียง 242 เมตร เพื่อช่วยให้เครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย โดยการวิ่งในระยะทางยาวจะช่วยผนึกแรงดันเครื่องยนต์
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีความหวังว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในถิ่นของชนชาติทิเบต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เพิ่มถึง 15 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2558 รวมเป็นรายได้มากกว่า 2,000 ล้านหยวน
รัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมท่องเที่ยวทิเบต เป็นหนทางหนึ่งในการคลี่คลายความไม่พอใจของชาวทิเบตในท้องถิ่น และรักษาเสถียรภาพในพื้นที่ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงได้ระดมผุดสนามบินมากมายซึ่งไม่ส่งผลทางธุรกิจเท่าไหร่นัก และยังได้ทุ่มงบประมาณสร้างทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก ฝ่าพื้นที่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) บนที่ราบสูงทิเบต ไปยังกรุงลาซา
เต่าเฉิง ย่าติง เป็นเขตทัศนียภาพของการ์เจ๋อซึ่งมีฐานะเป็นแคว้นปกครองตัวเองชนชาติทิเบตในมณฑลเสฉวน ทั้งนี้การ์เจ๋อเป็นจุดร้อนความวุ่นวายทางการเมืองสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างชนชาติ เป็นพื้นที่เกิดการประท้วงเผาตัวตายของลามะและชาวทิเบต ดังนั้น การเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ยังเป็นประโยชน์ในการลำเลียงทหารเข้าไปยังดินแดนด้วย