xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์มณฑลชิงไห่หวังสร้างฝนเทียมห่าใหญ่เหนือที่ราบสูงทิเบต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - คณะนักวิทยาศาสตร์ในมณฑล ชิงไห่ พยายามคิดค้นหาวิธีการควบคุมสภาพอากาศ เหนือที่ราบสูงทิเบต เพื่อเพิ่มปริมาณฝนเทียม ไหลลงสู่แม่น้ำในภูมิภาค อันแห้งแล้งทางภาคเหนือของจีน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนคาดว่า ไม่มีทางสำเร็จ

จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการวิจัย ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลชิงไห่ คณะนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนาย หวัง กวงเฉียง ประธานมหาวิทยาลัยชิงไห่เป็นหัวหน้า เสนอให้ใช้วิธีโปรยสารเคมีจากเครื่องบินเข้าสู่เมฆ ( cloud seeding) ในท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้างเหนือที่ราบทิเบตและภูมิภาคใกล้เคียง ซึ่งจะสามารถสร้างฝนเทียมให้ตกไหลลงสู่แม่น้ำเหลืองได้มากกว่าปีละ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากเกือบ 2 เท่าของปริมาณการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในกรุงปักกิ่ง

รานงานผลการศึกษาอธิบายว่า ระหว่างรอยต่อของบรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นใกล้ผิวโลกที่สุด มีช่องทางสำหรับการเคลื่อนตัวของไอน้ำ เรียกว่า แม่น้ำท้องฟ้า ( Sky River) โดยจะใช้เครื่องบิน หรือจรวด ฉีดสารเคมี เข้าไปสกัดไอน้ำ ที่กำลังเคลื่อนตัว เพื่อสร้างน้ำฝน

นักวิทยาศาสตร์มณฑลชิงไห่ยังระบุว่า โครงการแม่น้ำท้องฟ้านี้จะมีส่วนช่วยในการผันน้ำ ควบคู่ไปกับโครงการผันน้ำจากแม่น้ำแยงซี ในภาคใต้ มาหล่อเลี้ยงกรุงปักกิ่งและพื้นที่แห้งแล้งในดินแดนตอนเหนือ ซึ่งรัฐบาลจีนเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลชิงไห่จะก่อสร้างศูนย์อำนวยการ เพื่อช่วยโปรยสารเคมีบนภูเขา ซานเจียยงหยวน ฉีเหลียน และคุนหลุน

นาย เหว่ย เจียหวา นักอุทกวิทยาของมหาวิทยาลัยชิงไห่ ซึ่งร่วมโครงการระบุว่า ขั้นแรกต้องส่งดาวเทียมติดตามการไหลของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ และทำแผนที่แหล่งน้ำในภูมิภาคทิเบต โดยข้อมูลจากดาวเทียมจะใช้เป็นแนวทางในการยิงจรวด

อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่เชื่อว่า โครงการนี้จะทำสำเร็จ โดยศาสตราจารย์ ลั่ว หยง นักอุตุนิยมวิทยาของมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งศึกษาระบบภูมิอากาศในบริเวณกว้าง ระบุว่า ถ้ามี “แม่น้ำท้องฟ้า” เหนือที่ราบสูงทิเบตจริง ทำไมจึงไม่เคยมีการเอ่ยถึงในตำราเล่มใด อีกทั้งการเคลื่อนย้ายของไอน้ำมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนในชั้นบรรยากาศอยู่ตลอดเวลา จึงยากจะทำนายเวลาและบริเวณ ที่จะเกิด

นอกจากนั้น การโปรยสารเคมีเข้าสู่เมฆเป็นบริเวณกว้างตามที่โครงการระบุไม่น่าจะทำได้ โดยจีนเคยมีการควบคุมสภาพอากาศ ซึ่งทำได้เฉพาะบริเวณเล็ก และในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ก่อนหน้าการประชุมผู้นำเอเปกในกรุงปักกิ่งเมื่อ 2 ปีก่อนเท่านั้น

ขณะที่นายฟัง เฟา นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยการป้องกันสิ่งแวดล้อมของเทศบาลกรุงปักกิ่งระบุว่า ทีมโครงการชิ่งไห่อาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า ฝนก่อตัวอย่างไร ซึ่งต้องมีองค์ประกอบเงื่อนไขเฉพาะหลายอย่าง เช่น ความพอเหมาะของความเย็น ความชื้น และความอบอุ่น ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากความพยายามของมนุษย์

นอกจากนั้น การทำ Cloud seeding จะได้ผลภายใต้เงื่อนไข ที่เหมาะสมบางอย่างเท่านั้น และโดยส่วนใหญ่แล้วอาจเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้กว่าร้อยละ 10 เป็นอย่างมาก อีกทั้งจรวดยังสามารถพ่นสารเคมีในเมฆ เพื่อเร่งปฏิกิริยาให้เกิดฝนได้ในพื้นที่เพียง 2-3 ตารางเมตร ที่ระดับความสูง 3,000-5,000 เมตร ฉะนั้น การสร้างฝนเทียมเป็นบริเวณกว้างตลอดทั้งปีตามที่โครงการวิจัยมณฑลชิงไห่มุ่งหวังนั้น จะต้องใช้จรวด หรือเครื่องบินหลายลำทีเดียว ซึ่งงบประมาณจะสูงเหนือคาด

นายฟังเชื่อว่า โครงการจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสำนักข่าวซินหวา นาย ฮั่น เจี้ยนหวา รองผู้ว่าการมณฑลชิงไห่ระบุว่า โครงการแม่น้ำท้องฟ้า เป็นโครงการสำคัญอันดับแรกในแผนการพัฒนาระยะ 5 ปีของมณฑล ด้านเจ้าหน้าที่สำนักบริหารงานด้านอุตุนิยมวิทยาของจีนระบุว่า โครงการนี้เป็นเพียงความคิดของมณฑลชิงไห่ รัฐบาลกลางมิได้เป็นผู้เสนอ


กำลังโหลดความคิดเห็น