เอเจนซี--ซากฟอสซิลของช้างสเตโกดอน (Stegodon) ที่ถูกค้นพบบริเวณลุ่มน้ำหลันโจวในมณฑลกันซู่ ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการแล้วว่าเป็นซากฟอสซิลสเตโกดอนที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งนี้จากรายงานการศึกษาชุดใหม่ของกลุ่มนักบรรพชีวินวิทยาในท้องถิ่น
ช้างสเตโกดอน เป็นหนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในวงศ์เอลิฟานติดี (Elephantidae) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกช้าง ได้แก่ ช้างและแมมมอธ
สำหรับการค้นพบซากฟอสซิลช้างสเตโกดอนนี้ ช่วยสนับสนุนทฤษฎีที่ระบุว่าเขตแห้งแล้งสุดหฤโหดอย่างทะเลทรายโกบี ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึงภาคตะวันตกจีนนั้น เคยเป็นป่าดงอันเขียวชอุ่ม และสภาพอากาศอุ่นสบาย เป็นบ้านของหมู่สัตว์ร่างมหึมา
กลุ่มนักวิจัยจีนได้ขุดพบฟอสซิลช้างสเตโกดอนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในหมู่บ้านสิงจยาวาน บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำหลันโจว เมืองหลันโจว เมืองเอกของมณฑลกันซู่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีรายงานการวิเคราะห์ระบุว่า ซากฟอสซิลสเตโกดอนที่พบในหมู่บ้านสิงจยาวานนี้ มีอายุเก่าแก่ถึง 11 ล้านปี
รายงานการวิจัยชุดใหม่เกี่ยวกับซากฟอสซิลช้างสเตโกดอนนี้ ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ฉบับล่าสุด (ม.ค. 2016)
ในก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าซากฟอสซิลช้างสเตโกดอนที่เก่าแก่ที่สุด เป็นซากฯที่พบในประเทศเคนยา โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีอายุราว 7 ล้านปี
“ซากฟอสซิลฯเหล่านี้ มีอายุเก่าแก่กว่าซากฯที่พบในแอฟริกา ซึ่งทำให้บางกลุ่มอ้างว่าแอฟริกาเป็นถิ่นกำเนิดของช้างสเตโกดอน” คำกล่าวของ ดร. เอ้า หง(敖红)นักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยศึกษาสิ่งแวดล้อมโลกในเมืองซีอัน มณฑลส่านซี สังกัด สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences : CAS) และหัวหน้าทีมวิจัยชุดใหม่
จากการประเมินของการศึกษาบางชุด ระบุช้างสเตโกดอนเป็นช้างขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อราว 12,000 ปี มีงายาว 3 เมตร ลำตัวยาว 9 เมตร และอาจสูงถึง 4-5 เมตร น้ำหนักตัวนับ 10 ตัน กินหญ้าเป็นอาหาร ดังนั้น จึงมีขนาดใหญ่กว่าแมมมอธ
เป็นที่เชื่อกันว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับช้างยุคดึกดำบรรพ์ ปรากฏตัวเมื่อประมาณ 5 ล้านปีหลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว
“พิจารณาจากหลักฐานที่ว่าซากฟอสซิลช้างสเตโกดอนทั้งหมดมาจากจีน เราจึงเชื่อว่าช้างขนาดใหญ่ยักษ์นี้มีถิ่นกำเนิดในกันซู่ จากนั้นก็แพร่กระจายไปยังถิ่นที่อื่นๆ
“โดยเมื่อประมาณ 8 ล้านปีที่แล้ว อาจมีประชากรช้างสเตโกดอนจำนวนมหาศาลในมณฑลกันซู่ จนทำให้มีช้างบางกลุ่มอพยพไปยังตะวันตก” ดร. เอ้า กล่าว
จากแผนที่ของดร. เอ้า และคณะ ได้วาดเส้นทางอพยพของพวกช้างสเตโกดอน เดินทางข้ามเขตต่างๆเป็นลำดับ ดังนี้ ดินแดนตอนใต้ของที่ราบสูงทิเบต ตอนเหนือของอินเดีย ตะวันออกกลาง อียิปต์ และเข้าสู่แอฟริกา
“อาณาจักร” ของสเตโกดอน ที่บูมและแผ่ขยายไปไกลเช่นนี้ บ่งชี้ถึงสภาพอากาศของโลกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาพอากาศปัจจุบัน” กลุ่มนักวิจัยระบุ
ทะเลทรายโกบี ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศจีน อาจมีสภาพอากาศที่ชื้นและอบอุ่น มีที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาล ด้วยพืชพันธุ์ผักหญ้านานาชนิดได้หล่อเลี้ยงเหล่าสัตว์ร่างมหึมาจำนวนมากมาย ทั้งช้างสเตโกดอน และเหล่าแรดดึกดำบรรพ์ Paraceratherium ที่เชื่อกันว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยความสูงมากกว่า 6 เมตร กับน้ำหนักถึง 20 ตัน
“เราได้พบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมหาศาลในกันซู่ ดังนั้น ที่นี่อาจเป็นสวรรค์ของชีวิตหลากหลายสุดประมาณ” ดร. เอ้า กล่าว
เมื่ออุณหภูมิในภูมิภาคลดฮวบลงเนื่องจากความเย็นโลก และการอุบัติขึ้นของที่ราบสูงทิเบต ซึ่งสกัดกั้นฝนจากมหาสมุทรอินเดีย จำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ทางภาคตะวันตกจีน ก็ลดลงไปถนัด อีกทั้งการล่าสัตว์ของมนุษย์ ก็ทำให้สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการศึกษาแหล่งกำเนิดและเส้นทางอพยพของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาจให้เบาะแสเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคแรกๆ ซึ่งอาจเจริญรอยตามเส้นทางที่คล้ายคลึงกันนี้ เพื่อรักษาชีวิตรอดและแหล่งที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์