ความรุ่มรวยด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ความคึกคักทางการค้าและการท่องเที่ยวของตลาดน้ำ ที่อวดสายตาผู้มาเยือน “เมืองเกิ่นเทอ” ที่ตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามในวันนี้ จะยังคงอบอวลด้วยมนต์เสน่ห์ไปได้อีกนานสักเพียงไหน เมื่อความเป็นความตายกำลังคืบคลานเข้ามาพร้อมกับการรุกของน้ำเค็มจากทะเลจีนใต้ซึ่งหากมากเกินกว่าจะรับไหว พื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้คงพบกับความวิบัติและเหลือเพียงตำนาน
แนวระดับน้ำทะเลจีนใต้ที่ยันกับแนวระดับน้ำจืด ถือเป็นลมหายใจของที่นี่ ... ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือแม่โขงเดลต้า
เหวียน หู เที่ยน (Nguyen HuuThien) นักวิจัยอิสระด้านนิเวศวิทยาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง บอกเล่าสภาพสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำโขงในเวลานี้ว่า กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) สอง การพัฒนาภายในประเทศที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และ สาม การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่กำลังมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงตลอดแนว
โลกร้อน เสี่ยงวิบัติ แปรเปลี่ยนนาข้าวสู่นากุ้ง
ปัญหาน้ำเค็มจากทะเลรุกพื้นที่เพาะปลูก เป็นผลมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ปัญหาจากภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change โดยเฉพาะปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นความจริงและกระทบต่อทุกๆ ด้านของชีวิตในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เช่น อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ฤดูฝนสั้นลง ฤดูแล้งยาวนานขึ้น ซึ่งกระทบทั้งพืชและสัตว์ เหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น เมื่อปีก่อน แล้งมาเร็วเพราะภาวะเอลนิโน และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
เหวียน หู เที่ยน ซึ่งติดตามศึกษาเรื่องนี้มายาวนาน ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นของจริงและระดับน้ำทะเลก็กำลังเพิ่มขึ้น แต่มันจะเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทำให้มีเวลาปรับตัว ยกเว้นบางกรณีที่อาจจะรุนแรง เช่น ความแห้งแล้งช่วงต้นปีก่อน อันเป็นผลมาจากแอลนิโนทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้ฝนน้อย ทำให้ขาดน้ำจืดมาไล่น้ำเค็ม ดังนั้น ช่วงต้นๆ ของปีจึงมีน้ำเค็มรุกเข้ามามาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชที่ต้องอาศัยน้ำจืด เช่น ข้าว ส่วนปีอื่นๆ ก็ไม่ได้รุนแรงนัก เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้พอมีเวลาปรับตัว
สำหรับวิธีที่จะปรับตัวในความเห็นของเขา คือต้องติดตามแนวโน้มและเปลี่ยนแปลงระบบการเพาะปลูกตามไปด้วย ในอนาคตเราคาดว่าน้ำทะเลจะรุกเข้ามามากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนระบบการเกษตร เช่น จากปลูกข้าว ก็มาทำนากุ้งชายฝั่ง และเก็บน้ำจืดเอาไว้สำหรับปลูกข้าวในพื้นที่หลักเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีโอกาสทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย คือถ้าน้ำเค็มเพิ่มขึ้นก็ปลูกข้าวสลับกับนากุ้ง เช่น ถ้ามีน้ำจืดหกเดือนน้ำเค็มหกเดือน อย่างนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่
รองศาสตราจารย์ เล แองห์ ต่วน (Le Anh Tuan) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ เล่าในท่วงทำนองเดียวกันว่า ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์เมื่อ 15-20 ปีก่อน ในระยะ 5 ปีมานี้ สถานการณ์แย่ลงมาก เราเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากหลายอย่าง โดยเฉพาะกับการเกษตรและการเพาะเลี้ยง การผลิตก็ยังคงเดิม แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้นต้นทุนของเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้น รายได้ก็ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เกษตรกรต้องจ่ายเงินค่าสูบน้ำหรือเตรียมดินหลายครั้ง ทำให้รายได้ลดลงประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน
นอกจากจะต้องจ่ายเพิ่มในการเตรียมดินแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนฤดูการผลิตด้วย ต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ขุดคลองชลประทานขนาดเล็กเพิ่ม ต้องสร้างที่กักเก็บน้ำจืด เกษตรกรหลายรายขอให้นักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ใหม่เพื่อให้ต้านทานน้ำเค็มได้
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ เล่าว่า บางจังหวัดแถบชายฝั่ง ชาวนาได้เปลี่ยนจากนาข้าวเป็นนากุ้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา เพราะถ้าเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาเลี้ยงกุ้งก็ต้องลงทุนเพิ่ม ความรู้ก็แตกต่างกันด้วย เราต้องช่วยฝึกอบรมพวกเขา ประชาชนก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะน้ำเค็มจะซึมลงดิน พอจะเปลี่ยนกลับมาทำนาข้าว ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากเพื่อขจัดความเค็ม แต่การทำนาข้าวและนากุ้งตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แม้ว่านากุ้งต้องลงทุนมากกว่านาข้าวถึง 2 เท่าก็ตาม
“สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต้องเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม่ง่ายหรอกที่จะทำให้เกษตรกรเชื่อ แต่เราก็พยายามฝึกอบรมและสนับสนุนพวกเขาทั้งทางด้านเทคนิคและเงินทุน
“..... สิ่งที่น่ากังวลในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่ชายฝั่งปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลก็น่าเป็นห่วง แต่ถ้าลึกเข้ามา เรื่องคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงก็เป็นปัญหาสำคัญ”
เขื่อนปิด-เปิด ป้องกันน้ำเค็มรุก
เวลานี้ เมืองเกิ่นเทอ รับมือกับวิกฤตน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาอย่างไร หนึ่งในนั้นคือ การสร้างเขื่อนปิด-เปิดป้องกัน เจ้าหน้าที่สำนักงานเฝ้าระวังและตรวจวัดค่าความเค็มของลำน้ำสาขาที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำโขง ในเขตก๊ายรัง อยู่ห่างจากใจกลางของตัวเมืองเกิ่นเทอ ประมาณ 10 กิโลเมตร ชี้ให้ดูเขื่อนเดิ๊ตแซ็ต เขื่อนปิด-เปิดป้องกันน้ำเค็ม ซึ่งตั้งอยู่ข้างสำนักงาน พร้อมกับให้ข้อมูลว่า เขื่อนและประตูน้ำในเขตเกิ่นเทอ มีด้วยกันทั้งสิ้น ๘ แห่ง โดยเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อเฝ้าระวัง และประมวลผล เป็นภาษาเวียดนาม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
นั่นคือ หากความเค็มเข้มข้นจนถึงถึงจุดวิกฤต บานประตูที่อยู่ในน้ำที่ปากทางคลองของเขื่อนทั้งแปดเขื่อนจะถูกปิด แต่หากความเค็มเจือจาง ไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย ประตูเขื่อนจะแง้มบานเพื่อรับน้ำจากแม่น้ำสาขา ให้ไหลเข้าไปทำประโยชน์ให้แก่พื้นที่เพาะปลูก
ทั้งนี้ เว็บไซต์ของสำนักงาน จะแสดงผลและค่าตัวเลขที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ซึ่งหากชาวบ้าน และผู้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัทพ์มือถือสมาร์ทโฟนก็สามารถเข้าถึง และเตรียมตัวรับมือได้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักรับรู้ข่าวสารด้วยเครื่องมือที่พวกเขาคุ้นเคย และเข้าถึงได้ดีกว่า คือ ข่าวสารจากการกระจายเสียงของสถานีวิทยุประจำถิ่น ที่ถ่ายทอดข่าวสารจากเว็บไซต์ของสำนักงานอีกต่อหนึ่ง
ความอุดมสมบูรณ์ที่เริ่มเปราะบาง
แม่น้ำโขงที่ไหลมาจากต้นน้ำในที่ราบสูงทิเบตในจีน เรื่อยไหลผ่านแผ่นดินอีก 5 ประเทศ คือ เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ด้วยระยะทางประมาณ 4,880 กิโลเมตร ก่อนจะมาสิ้นสุดการเดินทางอันยาวไกลที่สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำโขงหรือแม่โขงเดลต้า ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ซึ่งนับว่าเป็นผืนแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือ “โด่ง บั่งซงกึ๋ว ลอง” ในภาษาเวียดนาม มีความหมายว่า มังกร 9 หาง เนื่องจากในบริเวณนี้แม่น้ำโขงมีสาขาย่อยออกไปอีกถึง 9 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ด้วยอาณาบริเวณกว่า 40,000 ตารางกิโลเมตร
ดินแดนแถบนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนแร่ธาตุที่พัดพามากับแม่น้ำโขง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของทั้งประเทศเวียดนาม โดยมีสภาพอากาศเป็นแบบมรสุมที่มีเพียงสองฤดูเท่านั้น คือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน และฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน
ในบรรดาหัวเมือง 13 จังหวัดในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง “เมืองเกิ่นเทอ” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม ถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนาม กระทั่งได้รับฉายาว่า “เมืองหลวงแห่งตะวันตก” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 169 กิโลเมตร
เศรษฐกิจของเมืองเกิ่นเทอ ขับเคลื่อนโดยภาคการเกษตร โดยเป็นเมืองผลิตข้าวที่สำคัญที่สุด ที่รู้จักกันในนาม “ยุ้งข้าวของเวียดนาม”และด้วยเกิ่นเทอ ผลิตข้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ จึงกล่าวขานกันว่า “เกิ่นเทอ ข้าวขาว น้ำใส ใครได้ไปไม่อยากจร”
ไม่ใช่เพียงแต่เป็นยุ้งข้าวของเวียดนามเท่านั้น เกิ่นเทอ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเฮา อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จึงทำให้เกิ่นเทอ เป็นเมืองที่มีทัศนียภาพงดงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนอีกด้วย
จุดเด่นอันสำคัญอีกประการหนึ่งของที่นี่ คือ ตลาดน้ำ ด้วยว่าแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ได้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่เชื่อมโยงแม่น้ำลำคลอง และเรือขนส่งสินค้าเกษตร ทั้งภายในเกิ่นเทอเอง และจากจังหวัดอื่นๆ ให้มาชุมนุมกันที่เมืองนี้ เกิ่นเทอ มีตลาดน้ำถึง ๔ แห่ง แต่ตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาตลาดน้ำทั้งสี่ ก็คือ ตลาดน้ำก๊าย รัง หรือ เจ๋อโหน่ยก๊ายรัง
เจ๋อโหน่ยก๊ายรัง รุ่มรวยด้วยผลไม้เขตร้อนนานาชนิด ชีพจรของเจ๋อโหน่ยก๊ายรัง จะเริ่มเต้นตั้งแต่เที่ยงคืน และจะเต้นเร็วและแรงมากขึ้นในช่วงฟ้าเริ่มสาง จนกระทั่งเฉื่อยเนือยลงเอาเมื่อเวลา 8 นาฬิกา เมื่อตลาดน้ำแห่งนี้เริ่มวาย การซื้อ-ขายผลไม้ตลอดจนผลิตผลทางการเกษตรในตลาดน้ำมีทั้งการซื้อขายส่งและปลีก
ด้วยสีสันและบรรยากาศการซื้อ-ขายของที่นี่ ตลาดน้ำก๊ายรัง นอกจากจะเป็นตลาดผลไม้ที่ซื้อ-ขาย กันทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต้องบรรจุไว้ในจุดหมายปลายทางที่ต้องไปให้ถึง และต่อเนื่องจากตลาดน้ำก๊ายรัง กิจการท่องเที่ยวยังคงเชื่อมโยงเข้าไปถึงเรือกสวนที่อยู่ใกล้เคียง ดังเช่น สวนมังคุด ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายสิบหลายร้อยสวนในเกิ่นเทอ ที่การท่องเที่ยวทางน้ำส่งผลไปถึง
จากสวนผลไม้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเกษตรกรรม โดยเจ้าของสวนปรับปรุงเส้นทางเดินภายในสวน จัดหากิจกรรม ทั้งร้านขายของชำร่วย และเติมสีสันด้วยมนต์เสน่ห์แห่งเสียงเพลงของแดนใต้ ซึ่งเรียกการมีส่วนร่วมจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งกิจกรรมอันเป็นมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของเกิ่นเทอ ส่งผลต่อรายได้ของชาวเมือง และเผื่อแผ่ไปยังชาวเรือ และชาวสวนผลไม้ในรัศมีที่เชื่อมโยงกับเกิ่นเทอ โดยรอบ
ผู้คนที่นี่ต่างดำเนินวิถีชีวิตสอดคล้องกับความอุดมสมบูรณ์ของปากแม่น้ำด้วยการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะนาข้าว ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำจืดจากแม่น้ำโขง และพวกเขายังจำเป็นต้องอาศัยน้ำจืดจากแม่น้ำโขง ผลักดันน้ำเค็มจากทะเลอีกด้วย
ชีวิตของคนที่นี่ จึงเป็นเหมือนเหรียญที่มีอยู่สองด้าน ด้านหนึ่ง ถึงแม้จะมีความมั่นคงในชีวิตจากความอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับจากสายน้ำโขง แต่อีกด้านของเหรียญกลับมีความเปราะบาง และส่งผลถึงความเป็นความตายของผู้คนที่นี่ เส้นชีวิตของผู้คนที่นี่ จึงขึ้นและลง ไปพร้อมๆ กับระดับน้ำในแม่น้ำโขง คงไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่า ชีวิตของผู้คนในพื้นที่สามเหลี่ยมดินดอนปากน้ำโขง แขวนลมหายใจไว้กับสายน้ำโขง
เมื่อใดที่ระดับน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นสูง พืชผลและผู้คนก็สดชื่นมีชีวิตชีวา แต่หากเมื่อใดที่กระแสน้ำโขงลดลงจนถึงระดับแห้งขอด และน้ำเค็มรุกคืบเข้ามา นั่นคือสัญญาณแห่งความตายของผู้คนและพืชพรรณ