รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้ “กฟผ.” จัดทำตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าให้ชัดเจน หลังพบปริมาณสำรองยังสูงเกินมาตรฐานที่ปกติเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15% โดยขอให้แยกพลังงานทดแทนออกมาเนื่องจากไม่เสถียร หวั่นประชาชนต้องแบกรับภาระ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานในงาน “Saving Together Happy Together” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือและมอบโล่แก่ผู้ประกอบการโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ประจำปี 2559 ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ได้มอบหมายให้ กฟผ.ไปจัดทำตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าให้เกิดความชัดเจนว่ามาจากแหล่งใดบ้าง โดยควรจะลดปริมาณสำรองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ภายในปี 2563 หลังจากเบื้องต้นพบว่ามีสำรองไฟฟ้าสูงถึง 30% ขณะที่เกณฑ์ปกติเฉลี่ยจะอยู่ระดับ 25%
“อยากให้ไปดูให้ชัดๆ ว่าสำรองที่สูงนั้นแท้จริงเป็นอย่างไรแน่ ไม่อยากให้นำเอาพลังงานทดแทนมารวมด้วยเพราะไม่เสถียร ซึ่งขณะนี้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนค่อนข้างมาก ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก แต่ยอมรับว่าหากไม่นับรวมพลังงานทดแทนสำรองไฟฟ้าก็ยังอยู่ในระดับสูง20% ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ดูสำรองให้ชัดเจนและลดลง” รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้ การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ในขณะที่การจัดหาแหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศดำเนินการได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร พื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงการยอมรับของชุมชน ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่ กฟผ.ดำเนินการถือว่าสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ในปี 2559 กฟผ.ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค ในการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพในปี 2560 ต่อไป โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฯ จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท แสงเอกซัพพลายส์ จำกัด, บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพียวละมุน จำกัด, บริษัท ซันเด้น อินเตอร์คูล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด, บริษัท ไทยเสรีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ศิริธนาเครื่องเย็น จำกัด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการโคมไฟ LED เบอร์ 5 ชนิด High bay - Low Bay จำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท จั๊มเวย์ จำกัด, บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด, บริษัท ออสแรม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยาม แอลอีดี จำกัด และบริษัท ตาดีเทคโนโลยี (998) จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการกระทะไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท แอคคอร์ด พรีเวล อิเล็คทริค 1999 จำกัด, บริษัท ฮานาบิชิ อิเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท ที.เอ.ที. (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สแกนเนอร์อิเลคทริค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด, บริษัท เอกชัยโลหะภัณฑ์ อิเลคทริค จำกัด และบริษัท นพัช อินเตอร์ จำกัด
สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเบอร์ 5 จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทองไทย (1956) จำกัด, บริษัท ไฮโซะเทค จำกัด, บริษัท ลัคกี้สตาร์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน)