“กพช.” เคาะ กฟผ.-กฟภ.ลงทุนระบบส่งไฟฟ้า 7,350 ล้านบาท รองรับการพัฒนาเขต ศก.พิเศษที่จะดันให้การใช้ไฟเพิ่มขึ้น พร้อมรับทราบผลการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน มิ.ย. 59 รวม 9.2 พันเมกะวัตต์ (MW) ขณะที่เป้าหมายของแผน AEDP กำหนดไว้ 1.67 พันเมกะวัตต์ในปี 2579
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่า ที่ประชุม กพช.ยังได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการลงทุนปรับปรุงและก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงินรวมกว่า 7,350 ล้านบาทเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแผนและรายละเอียดในการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน มิ.ย. 59 พบมีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว 7,234 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9,223 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่กำหนดไว้ 16,778 เมกะวัตต์ ในปี 2579
โดยมีสถานภาพการรับซื้อ ดังนี้ โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว จำนวน 6,992 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,380 เมกะวัตต์ โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 157 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,113 เมกะวัตต์โครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 85 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 730 เมกะวัตต์
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กพช.ยังได้อนุมัติการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ พร้อมเห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว (MOU) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเตรียมการลงนามใน MOU ดังกล่าว ทั้งนี้ การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ก่อนยกระดับสู่การเป็น Regional Grid ต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ในระยะที่ 1 คือ การเตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (พ.ศ. 2559-2560) ของหน่วยงานต่างๆ เช่น 3 การไฟฟ้า บมจ.ปตท. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น