xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานลม แสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำลง “กกพ.” จ่อทบทวน FiT ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



“กกพ.” เตรียมศึกษาแนวโน้มต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หลังเทคโนโลยีไปไกลทำให้ต้นทุนผลิตลดต่ำโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม หวังนำมาทบทวน FiT ให้สะท้อนความจริงไม่เป็นภาระค่าไฟประชาชน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.กำลังศึกษาแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขณะนี้เริ่มมีต้นทุนที่ลดต่ำลงมากเพื่อนำมาปรับหรือทบทวนมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Feed in Tariff (FiT) ปัจจุบันให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงอีกครั้ง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และพลังงานลมที่พบว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้ต้นทุนการผลิตไฟลดต่ำลงมาก

“พลังงานแสงอาทิตย์เองล่าสุดพบว่าต้นทุนเฉลี่ยเหลือเพียง 4 บาทต่อหน่วยเท่านั้นก็คงต้องดูว่าเป็นอย่างไร ส่วนลมก็ลดไปเยอะเช่นกัน ซึ่งระบบ FiT ที่เราเปลี่ยนมาใช้เป็นช่วงปลายปี 2558 โดยพลังงานลม FiT อยู่ที่ 6.06 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 5.66-6.8 บาทต่อหน่วย” นายวีระพลกล่าว

ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดที่การผลิตไฟไม่เสถียรและไม่สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงทำให้สัญญาซื้อขายต้องเป็นรูปแบบ Non -Firm เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรูปแบบนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สั่งเดินเครื่องไม่ได้ แต่หากเป็นรูปแบบ Firm จะเป็นการรับประกันว่าจะจ่ายไฟให้ระบบไม่น้อยกว่าค่าที่รับประกันจ่ายต่ำก็โดนปรับ ดังนั้นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังศึกษามาตรการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กแบบผสมผสานหรือ SPP -Hybrid โดยนำแสงอาทิตย์ และลม ที่การผลิตขึ้นอยู่กับแสงแดดและลมมาผสมกับชีวมวลที่การผลิตจะเสถียรกว่ามาผสมกัน เพื่อทำให้การซื้อขายไฟเป็นแบบ Firm จะทำให้ระบบมีความมั่นคง

“การส่งเสริมให้เกิด SPP-Hybrid อาจสามารถกำหนด FiT ในอัตราที่จูงใจเป็นพิเศษได้แต่ต้นทุนต้องไม่สูงกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นสำคัญ” นายวีระพลกล่าว

สำหรับพลังงานลมนั้น ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 2015 กำหนดเป้าหมายรับซื้อทั้งสิ้น 3,000 เมกะวัตต์ แต่มีการรับซื้อแล้ว 1,616 เมกะวัตต์ แต่จ่ายเข้าระบบแล้ว (COD) 234 เมกะวัตต์เนื่องจากติดปัญหาด้านพื้นที่ป่าซึ่งก็จะทยอยเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ตาม ศักยภาพลมมีมากแต่ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายรับซื้อเพิ่ม ซึ่งหากรับซื้อก็สามารถใช้ FiT Bidding ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เป้าหมายตามแผน 6,000 เมกะวัตต์การรับซื้อจะเหลือส่วนของโซลาร์ฟาร์มราชการ 519 เมกะวัตต์ที่จะเปิดให้ยื่นเสนอขายปลายปีนี้ ส่วนเป้าหมายที่เหลือ 2,976 เมกะวัตต์ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะดำเนินการเช่นไรต่อ

“การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมดที่มีพันธะผูกพันแล้วรวมประมาณ 9,041 เมกะวัตต์ แต่ตามแผน AEDP กำหนดสิ้นสุดแผนปี 2579 จะมีการซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งสิ้น 16,778 เมกะวัตต์ โดยปีนี้ก็จะมีการรับซื้อเพิ่มทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน และโซลาร์ฟาร์มราชการ รวมๆ อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และปี 2560 ก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐว่าจะมีการรับซื้อเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เนื่องจากขณะนี้ระบบสายส่งเต็มจะไปรองรับได้เพิ่มอีกจะเป็นปี 2562-63 ที่ กฟผ.จะลงทุนสร้างทยอยเสร็จ โดยหากมีนโยบายรับซื้อเพิ่มก็ได้แต่กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบปีที่พร้อมแทน” นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น