xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโย่ง” สั่งเกาะติดเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ก่อนปรับแผน AEDP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงานยันยังไม่มีนโยบายปรับ 5 แผนพลังงานแต่ให้ติดตามใกล้ชิดที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนหรือ AEDP 2015 หลังซื้อไฟผูกพันแล้วถึง 9,000 เมกะวัตต์ ให้โฟกัสที่เทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วและต้นทุนต่ำ

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวซึ่งประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) แผนอนุรักษ์ (EEP 2015)แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP 2015) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง( Oil Plan) และแผนบริหารจัดการก๊าซ (Gas Plan) ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะปรับแผนแต่ให้มีการติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะแผน AEDP ที่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนค่อนข้างมากที่จำเป็นต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีในอนาคตที่อาจมีต้นทุนที่ต่ำลงและต้องก่อให้เกิดความมั่นคงระบบไฟฟ้าเป็นสำคัญ

“ยังไม่มีการปรับแผนใดๆ แต่ให้ติดตามใกล้ชิดอย่างพลังงานทดแทนต้องดูความมั่นคง และมีความสมดุลเกิดขึ้น ให้มีการผลิตได้ 24 ชั่วโมง กระทบกับค่าไฟให้น้อยสุดเมื่อมาเฉลี่ยตลอดแผน ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแม้ว่าจะ มีพันธะผูกพันแล้ว 9,000 เมกะวัตต์ ก็ถือว่ายังไม่ได้เกินแผนที่วางไว้ที่สิ้นสุดปี 2579 จะซื้อทั้งสิ้น 16,000 เมกะวัตต์” รมว.พลังงานกล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนพ.กำลังติดตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใกล้ชิดเพื่อปรับแนวทางการรับซื้อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผน AEDP เนื่องจากบางเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar) ที่แนวโน้มต้นทุนลดลงแต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของระบบการผลิตไฟฟ้าที่เสถียรและหากจะต้องลงทุนเพื่อให้มีระบบกักเก็บก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก 5-8 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน หรือ SPP-Hybrid ที่หลักการ 1. จะต้องมีการผสมผสานเชื้อเพลิงต่างๆ ได้เช่น ผสมแสงอาทิตย์กับพลังงานชีวมวล ฯลฯ 2. การขายไฟจะต้องเป็นแบบสัญญา Firm และ 3. มีระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้เกิดความมั่นคงแก่พลังงานทดแทนมากขึ้น

นายทวารัฐยังกล่าวถึงการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ JDA ระหว่าง 20-31 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายร่วมมือทำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และก๊าซฯ ได้จ่ายเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.เวลา 18.00 น. อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ภาคใต้ที่โตเพิ่มขึ้น 5% ทุกปีแล้วยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าโดยรวมของประเทศจากการกระจายเชื้อเพลิงถ่านหินที่รัฐวางไว้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้ากระบี่

นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ประเมินการใช้ไฟฟ้าปีนี้จะเติบโตเฉลี่ย 4.3% ประกอบกับขณะนี้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาเร็วมากจึงคิดว่าที่สุดน่าจะมีการปรับแผน PDP และ AEDP ให้สอดรับกับเทคโลยีประกอบด้วยซึ่ง กฟผ.ก็ได้ขอโควตาการผลิตพลังงานทดแทนกับกระทรวงพลังงานเพิ่มขึ้นอีกช่วงปี 2560-2569 ประมาณ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในระบบของ กฟผ.แล้วราว 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น