xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.นราธิวาสลงเยี่ยมผู้นำศาสนาและสัปบุรุษ พร้อมร่วมในพิธีมอบคุตบะฮ์ ด้านพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - ผวจ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้นำศาสนา และสัปบุรุษ พร้อมร่วมในพิธีมอบคุตบะฮ์ ด้านพลังงาน ที่มัสยิดอัลฮีลาลียะฮ์ อำเภอรือเสาะ ซึ่งเป็น 1 ใน 15 แห่งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (4 ต.ค.) นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดกิจกรรม “เยี่ยมมัสยิด/ผู้นำศาสนา สร้างศรัทธา ประชารัฐร่วมใจ” ที่มัสยิดอัลฮีลาลียะฮ์ ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่ผู้นำศาสนา และสัปบุรุษ รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้นำศาสนา ประชาชน ที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่ข้าราชการในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำแนวทางประชารัฐของรัฐบาลมาขับเคลื่อนงานดังกล่าว ซึ่งมี นายยะยาห์ ปะนาฆอ นายอำเภอรือเสาะ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ร่วมเป็นเกียรติพิธีมอบคุตบะฮ์ โครงการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพลังงาน ผ่านมิติศาสนาอิสลามในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นมัสยิดแห่งที่ 5 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และ 1 ใน 15 แห่ง ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศูนย์บริการวิชาการที่ 8 (สงขลา) กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข และสำนักงานพลังงานจังหวัดนราธิวาส ร่วมกันจัดโครงการฯ ขึ้น โอกาสนี้ นายสมปอง ขวัญเกื้อ พลังงานจังหวัดนราธิวาส และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัด ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงานในด้านต่างๆ ด้วย
 

 
ด้าน นายถาวร บุญศรี หัวหน้าศูนย์บริการด้านพลังงานที่ 8 (สงขลา) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ในปี 2559 ได้ดำเนินการโครงการคุตบะฮ์ โครงการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพลังงานผ่านมิติศาสนาอิสลามในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำร่องไปแล้ว 15 แห่ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากพื้นที่เป็นอย่างดี และในปี 2560 กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการในโครงการดังกล่าวอีก 15 แห่ง ซึ่งจะกระจายนำร่องเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 5 แห่ง แห่งละแผงโซล่าเซลล์ และเสาไฟฟ้า 6 ต้น หลอดไฟฟ้า LED 30 หลอด ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งจากเดิมมัสยิดจะมีค่าไฟฟ้าเดือนละ 680 บาท เหลือเพียงเดือนละ 263 บาท 

อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่จึงต้องทำความเข้าใจในองค์ความรู้ ซึ่งได้แก้ปัญหาด้วยการใช้นักวิชาการท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เข้ามาร่วมด้วยการบอกต่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ และเข้าใจถึงความสำคัญแบบผสมผสานภาษาถิ่น และภาษาไทยกลางไปพร้อมๆ กัน จึงสามารถแก้ปัญหาได้
 


 

กำลังโหลดความคิดเห็น