xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโย่ง” ส่งสัญญาณชงนายกฯ เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน ส่งสัญญาณเร่งรัดเตรียมนำผลสรุปไตรภาคีเพื่อตัดสินใจโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เสนอนายกฯ ได้ข้อยุติแน่ภายใน 1-2 เดือนนี้ แย้มถ้าสร้างได้มีข้อดีทั้งมั่นคง ด้านสำรองและค่าไฟ พร้อมวางเป้าหมายปี 2560 เดินหน้ายุทธศาสตร์ Energy 4.0

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ว่ากระทรวงพลังงานจะเร่งรัดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยกระทรวงพลังงานจะนำผลการพิจารณาข้อดีและข้อเสียของคณะกรรมการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ไตรภาคี) มาตัดสินใจเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา

“ขณะนี้โรงไฟฟ้ากระบี่เองก็ล่าช้ามาแล้ว 2 ปีคงจะต้องถึงเวลาเพราะปริมาณสำรองเอง ขณะนี้แม้จะไม่มีปัญหาแต่ถ้าดูอีก 4-5 ปี ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าใหญ่เลย การใช้กับการผลิตจะใกล้เคียงกันมากซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นคง หากที่ จ.กระบี่เกิดได้เป็นเรื่องที่ดีทั้งความมั่นคง สำรอง และค่าไฟจะถูกกว่า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองก็พยายามดำเนินงานคู่ขนานไปกับไตรภาคี และภายในเดือนนี้คณะกรรมการไตรคีจะสรุปแต่ไม่ได้ฟันธงว่าเอาไม่เอา แต่จะสรุปเพียงว่าถ้าทำแล้วอะไรดี อะไรไม่ดีเท่านั้น” รมว.พลังงานกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายที่จะเร่งให้เกิดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เสรี โดยพยายามที่จะให้มีผู้เล่นมากขึ้นนอกเหนือจาก บมจ.ปตท. หลังจากที่รัฐเองก็ได้มีการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อแก่บุคคลที่ 3 (TPA) โดยจะต้องมองตั้งแต่การลงทุนคลังและระบบท่อซึ่งขณะนี้ทาง กฟผ.ก็เตรียมลงทุนคลัง LNG ลอยน้ำ หรือ FSRU คาดว่าจะเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนหน้า

รมว.พลังงานกล่าวว่า ภายในปีงบประมาณปี 2560 กระทรวงฯ จะเร่งดำเนินงานตามแผนที่สำคัญควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์พลังงานตามนโยบาย Energy 4.0 โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งเสริมเพื่อการรับซื้อพลังงานทดแทน 2. การสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ 3. การเปิดแอลเอ็นจีและแอลพีจีเสรีโดยเป็นไปตาม 5 แผนหลัก ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมัน แผนก๊าซฯ แผนพลังงานทดแทนและพลังานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP)

ส่วนยุทธศาสตร์พลังงาน 4.0 มีเป้าหมายการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศผ่านผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันตลาดโลกได้ เช่น การบริหารพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การเตรียมความพร้อมในการรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น