ปตท.เผยราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่จะกลับไปสู่ระดับ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้นทุนการผลิตเชลล์ออยล์จะอยู่ระดับ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ลดหนักมาก “กฟผ.” หวังทำสถานีชาร์จไฟรับรถยนต์ EV ในต่างจังหวัด ลุ้นสร้าง FSRU
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016 เรื่อง “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอนาคตโอกาสที่จะขึ้นไปสู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยราคาจะยืนอยู่ในระดับไม่เกิน 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะล่าสุดต้นทุนของผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือเชลล์ออยล์ เฉลี่ยอยู่ในระดับดังกล่าว หากราคาเกินจากนี้ผู้ผลิตจากเชลล์ออยล์ก็จะกลับมาผลิตทันที
“ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้คาดว่าจะอยู่ระดับกว่า 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งน้ำมันที่ผ่านมาที่เกินระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้เอื้อให้การผลิตน้ำมันจากเทคโนโลยีเชลล์ออยล์ เชลล์แก๊สออกมามาก” นายอรรถพลกล่าว
นอกจากนี้ จากรายงานของบริษัท แมคแคนซี บริษัทที่ปรึกษายังพบว่าต้นทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ยังลดต่ำลงโดยในปี 1997 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์คิดเป็น 70 เหรียญสหรัฐต่อวัตต์ขณะนี้เหลือแค่ 0.3 เหรียญฯ ต่อวัตต์เท่านั้น เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ที่ก็ลดลงไปมากเช่นกัน โลกจึงมองไปที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่นเดียวกับไทย แต่ระยะนี้ก็ยังถือเป็นเพียงแต่ช่วงแรกที่ไทยจะเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อน
“แบตเตอรี่พัฒนาไปพอสมควร ปตท.ก็มองไปที่รถ EV แต่จะพัฒนาไปได้มากแค่นั้นก็คงต้องรอแต่รถ EV เป็นการเตรียมตัวไว้ ซึ่ง ปตท.ก็มองไปที่การตั้งสถานีชาร์จไฟที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นช่วงแรกโดยปีหน้าจะมีทั้งสิ้น 20 แห่งจากปีนี้จะมี 6 แห่ง” นายอรรถพลกล่าว
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่ากิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เคยศึกษาไว้หากไทยมีรถยนต์ไฟฟ้า 4-5 ล้านคันจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% จุดนี้ก็มองไปที่การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า (สมาร์ทกริด) ที่จะลดการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ขณะเดียวกัน กฟผ.ยังมองการบริการสถานีชาร์จไฟในต่างจังหวัดโดยเฉพาะแบบควิกชาร์จ ส่วนในเขตเมืองก็ให้ บมจ.ปตท.และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินงาน
นอกจากนี้ กฟผ.ได้เสนอต่อกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการศึกษาแนวทางเบื้องต้นการลงทุนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบคลังลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) กลางอ่าวไทย ปริมาณ 5 ล้านตัน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งผลการศึกษาจะมี 4 เส้นทางสำหรับการลอยลำของเอฟเอสอาร์ยู และสร้างท่อรับกลางทะเลมายังบนบก แล้วสร้างท่อบนบกอีกกว่า 4 เส้นทาง เพื่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ แล้วสร้างท่อก๊าซต่อเชื่อมบนบกทั้งเชื่อมกับระบบของ บมจ.ปตท. และก่อสร้างเองไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ