“อาคม” ยันสัมปทานเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง ต้องประมูลเปิดกว้างไม่เจรจาตรงกับรายใด สั่ง ร.ฟ.ท.วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งผลตอบแทนและปริมาณสินค้าจริงภายใน 60 วัน ขณะที่ภาคเอกชนเสนอยืดเส้นทางถึงหนองคายเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้า สัมปทาน 30+30 ปี เชื่อคุ้มทุนกว่า แนะรัฐลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ ไฟฟ้า ส่วนเอกชนจัดหาหัวจักร แคร่ คาดลงทุนไม่ถึง 2,000 ล้านเพื่อจูงใจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟสายขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบังว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และที่ปรึกษาทางการเงินจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทาง 516 กิโลเมตร โดยจะให้ภาคเอกชนให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าด้ายระบบไฟฟ้า จะขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost Concession โดยภาครัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล ภาคเอกชนลงทุนขบวนรถไฟฟ้า อู่จอดและซ่อมบำรุง ในระยะเวลา 30 ปี พร้อมเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ ร.ฟ.ท.กลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมาตรา 24 ในหลายเรื่อง และเสนอกระทรวงพิจารณาอีกครั้งใน 60 วัน ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์และทำข้อมูลเพิ่มเติม เช่น การวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทน วิเคราะห์ปริมาณสินค้าที่จะมาจากเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 354 กม. และเส้นทางชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา)-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางจากอีสานตอนใต้ที่จะมาป้อนเส้นทางดังกล่าว วิเคราะห์ปริมาณความต้องการการขนส่งสินค้าทางราง เนื่องจากขณะนี้มีเอกชนเสนอตัวไว้รายเดียว จึงต้องประเมินปริมาณสินค้าว่ามีมากเพียงพอที่จะให้เอกชนหลายรายเข้ามาให้บริการหรือไม่เพื่อเปรียบเทียบออกมา
นอกจากนี้ จากการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) มีเอกชนเสนอให้ขยายเส้นทางจากขอนแก่นไปถึงหนองคาย ระยะทางอีกประมาณ 160 กม. เพื่อให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ในการเดินรถขนส่งสินค้าจะใช้รถระบบรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการ ดังนั้น การจัดสรรทางระหว่างการขนส่งสินค้ากับขนส่งผู้โดยสาร
นายอาคมกล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะต้องศึกษารายละเอียดชัดเจน ซึ่งรูปแบบ PPP จะต้องเปิดกว้างไม่ใช่เจรจากับรายใดรายหนึ่ง การให้เอกชนร่วมลงทุนขนส่งสินค้าเพราะมีปริมาณสินค้ามาก หรือว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ราง ตรงนี้ต้องชัดเจน ซึ่งยอมรับว่า ร.ฟ.ท.มีขีดความสามารถด้านการตลาดการหาลูกค้าไม่เท่าเอกชนแน่นอน
“ที่ปรึกษาคาดการณ์ปริมาณสินค้าไว้สูง เพื่อให้เห็นว่าเป็นการชิปโหมดการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ราง แต่ต้องมีข้อมูลประเภทสินค้าที่จะมาใช้รถไฟด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามข้อเสนอเดิมที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เสนอขอลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง พบว่ามีกรอบวงเงินลงทุนทั้งโครงการคาดว่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการจัดหาตู้ขนสินค้า ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และระบบไฟฟ้า (Power Supply) เพื่อสนับสนุนการเดินรถ ที่จะมีการจัดหาหัวจักรไฟฟ้ามาใช้แทนหัวจักรดีเซลในปัจจุบัน แต่เนื่องจากภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และตามผลศึกษาระบุว่ารัฐต้องลงทุนเรื่องระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้า (Power Supply) จึงจะมีแรงจูงใจเอกชนมาร่วมลงทุน ขณะที่เอกชนจะลงทุนจัดหาระบบรถ หัวรถจักร แคร่สินค้า ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งทำให้วงเงินลงทุนเหลือไม่เกิน 2,000 ล้านบาท