xs
xsm
sm
md
lg

เผย 8 ปีระบบรางลงทุน 2 ล้านล้าน เร่งยกมาตรฐานการผลิตในประเทศ ลดนำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการเสวนา เรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศ  ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)   เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต
“ร.ฟ.ท.-ก.วิทย์-ก.อุตฯ” จับมือพัฒนามาตรฐานระบบราง ดันผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ลดการนำเข้า “อาคม” ระบุรัฐมีแผนพัฒนาระบบรางทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงในรอบ 8 ปี มูลค่าลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบและตัวรถไฟฟ้า 20-30% หากผลิตได้ในประเทศ จะลดต้นทุนโครงการลง นอกจากนี้ระหว่างปี 60-64 ยังต้องการบุคลากรด้านรางถึง 3 หมื่นคน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการเสวนาเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศ ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมมือทางวิชาการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต ซึ่งแผนพัฒนาระบบรางที่รัฐบาลเร่งรัดและให้ความสำคัญ ทั้งระบบรถไฟฟ้าซึ่งเป็นขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, รถไฟระหว่างเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการรถไฟทางคู่, รถไฟชานเมือง และรถไฟความเร็วสูง ที่มีมูลค่าลงทุนในระยะ 8 ปี รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่มีความต้องการด้านบุคลากรด้านระบบรางในช่วงปี 2560-2564 ประมาณ 30,000 คน

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบรางในส่วนของการก่อสร้างโครงการต่างๆ นั้นไทยมีศักยภาพในการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด ขณะที่ยังต้องพัฒนาในส่วนที่อยู่เหนือดิน เข่น ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ชิ้นส่วน ตัวรถไฟ หัวจักร ระบบไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อน โดยปัจจุบันยังต้องนำเข้า ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20-30% ของโครงการ ซึ่งหากสามารถเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนามาตรฐานการผลิตภายในประเทศได้จะช่วยลดต้นทุนโครงการลง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ในฐานะผู้ใช้จะเป็นผู้สร้างความต้องการ เพื่อเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาและผลิต

“แม้ว่าปัจจุบันจะมีโครงการระบบรางมาก แต่ในการผลิตชิ้นส่วนเอง ต้องประมวลว่าระบบรางที่จะเกิดขึ้นมีชิ้นส่วนใดหรืออุปกรณ์ใดที่มีความต้องการใช้จำนวนมากพอเพื่อที่จะเริ่มต้นการผลิตในประเทศได้แล้วมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือตั้งโรงงาน เช่น ตัวประกับล็อกหมอนรถไฟ มีความต้องการใช้จำนวนมาก อาจจะเริ่มการพัฒนาผลิตก่อน เป็นต้น ต้องพิจารณาเป็นรายชิ้นส่วนไปเพื่อนำมาเริ่มต้นการผลิตในประเทศ และในระยะยาวอาจจะมองชิ้นส่วนที่ใช้ในประเทศและสามารถส่งออกได้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดกรมการขนส่งทางราง โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ โดยกรมรางจะมีบทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) กำกับมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบรางในอนาคต โดยการพัฒนาระบบจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทยซึ่งจะกระตุ้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ร.ฟ.ท.และผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านวิชาการ มาตรฐาน การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งระบบรางและตัวรถไฟฟ้า

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทย์จะเป็นผู้ช่วยสนับสนุนการก่อสร้างระบบราง ซึ่งในด้านการพัฒนาบุคลากรระบบรางนั้นขณะนี้มี 6-7 มหาวิทยาลัย จัดหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานนี้เพื่อบูรณาการการทำงาน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์สำหรับระบบราง การพัฒนาห้องปฏิบัติการในประเทศด้านการวิเคราะห์ทดสอบ คุณภาพชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น