ส่งออกเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 6.54% กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน หลังสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งยานยนต์ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ แผงโซลาร์เซลล์ ส่วนสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้น ขณะที่ตลาดเพิ่มขึ้นกระฉูด จีนเพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 32 เดือน สหรัฐฯ 42 เดือน ฟันธงทั้งปีหากส่งออกลบจะไม่เกิน 1% แต่มีโอกาสเป็นบวกได้ เตรียมนัดผู้ส่งออกรายใหญ่ เร่งสปีดส่งออกช่วงโค้งสุดท้าย
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 2559 มีมูลค่า 18,824.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.54% เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 เดือน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือนนับจากเดือน มี.ค. 2559 ที่เพิ่มขึ้น 1.30% โดยการส่งออกเดือน ส.ค.นี้ หากตัดตัวเลขที่มีปัญหาของเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือ ยานยนต์ ที่เพิ่งนำมาลงเป็นตัวเลขส่งออกในเดือนนี้ มูลค่า 370 ล้านเหรียญสหรัฐออกไปก็ยังคงเป็นบวก 4% ส่วนการนำมีมูลค่า 16,697.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.48% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,127.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ถึง 9% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 40.4% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 44.5% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 25% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ไดโอด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เพิ่ม 102.6% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 11% ส่วนทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป โทรทัศน์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ลด 45.6%, 21.6%, 18.7%, 6.8% และ 1.3% ตามลำดับ
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงลดลง 4.1% ตามการชะลอตัวของอุปสงค์โลก และตามราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ไม่รวมกุ้ง ลดลง 31.9%, 21.4% 8.0% และ 1.9% แต่ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด ไก่แปรรูป มันสำปะหลัง เพิ่ม 16%, 20.1%, 11.2% และ 5.7%
ทางด้านตลาดส่งออกพบว่า ตลาดสำคัญเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น จีน เพิ่ม 4.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.7% อาเซียน เพิ่ม 2.6% CLMV เพิ่ม 0.3% และสหรัฐฯ เพิ่ม 14.9% โดยเป็นเพิ่มขึ้นในรอบ 12 เดือน 6 เดือน 5 เดือน 3 เดือน และ 2 เดือนตามลำดับ โดยเฉพาะจีน เพิ่มสูงสุดในรอบ 32 เดือนและสหรัฐฯ ในรอบ 42 เดือน ขณะที่สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 11.8% อินเดีย เพิ่ม 1.1% ไต้หวัน เพิ่ม 5.4% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 24% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 37.9% กลุ่ม CIS และรัสเซีย เพิ่ม 27.3% แคนาดา เพิ่ม 7.2%
นายสุวิทย์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินจนถึงขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงเป็นบวกได้นิดๆ หรือติดลบไม่เกิน 1% เพราะกระทรวงฯ มีแผนที่จะหารือกับผู้ผลิตรายใหญ่รายสำคัญ เช่น อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อดูว่าจะเร่งส่งออกอะไรได้เพิ่มขึ้นบ้างในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มยอดการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากทำได้เดือนละ 17.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะติดลบ 1% ทำได้เดือนละ 18.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัวที่ 0% ทำได้เดือนละ 18.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0.3% และส่งออกเดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะเป็นบวกที่ 3%
นายสุวิทย์กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้ได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ตอบโจทย์การสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยจะเน้นการลงทุนในตลาด CLMV รวมถึงตลาดยุโรป ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดและการสร้างตราสินค้า ขณะเดียวกันจะดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีแผนที่จะดึงลงทุนจากไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เข้ามาในไทยให้ได้เพิ่มขึ้น และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็มีแผนที่จะออกไปเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วยซึ่งเร็วๆ นี้มีแผนที่จะไปโรดโชว์ที่เยอรมนี