ตอกย้ำ “รัฐ-เอกชน” ต้องร่วมใจขับเคลื่อน Thailand 4.0 พร้อมเชื่อมโยงกับ CLMV ย้ำนักลงทุนต่างชาติยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมเร่งผลักดันจีดีพีให้ขยายตัวสูงกว่า 3-4% หลุดพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และขับเคลื่อน ศก.ไทยให้เติบโตได้แบบยั่งยืน
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา Asia Wealth Forum 2560 ทศวรรษใหม่การลงทุน โดยระบุว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปี 2560-2569 ประเทศไทยจะยังคงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมียุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายจริง 2.5 ล้านล้านบาท ในระบบราง ทางคู่ มอเตอร์เวย์ โครงสรางพื้นฐานขนส่ง ท่าเรือ การลงทุนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 60 ลงทุนด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานโดยลงทุนสายส่ง ร้อยละ 30 เป็นต้น
ด้านการลงทุนของต่างชาติในไทย ยืนยันว่า ประเทศไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ พบว่า ครึ่งแรกปี 59 มีการยื่นโครงการลงทุนขอรับส่งเสริมรวม 300,000 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว โดยเป็นคำขอของนักลงทุนต่างชาติร้อยละ 77 และหากรวมโครงการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยกับต่างชาติ จะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 80 จึงจะเห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนอยู่ และบีโอไอ ก็ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในอาเซียนเช่นกัน
นายปรเมธี กล่าวว่า ขนาดเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่มขึ้น ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ดีกว่าเศรษฐกิจโลก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยร้อยละ 4.8 และปีหน้าโตร้อยละ 5 ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้โตในระดับประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น และในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นเล็กน้อย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็นร้อยละ 3.1 ส่วนประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจรวม 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงค่อนข้างมีความสำคัญในเอเชีย โดยไทยจะเป็นจุดเชื่อมโยงของอาเซียน โดยที่เป็นศูนย์กลางที่ศักยภาพประเทศเหมาะสม เช่น สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เป็นต้น
ส่วนประเทศไทยมีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินและด้านขนส่ง และลอจิสติกส์ สุขภาพ ท่องเที่ยวในอาเซียน ด้านประชากรในอาเซียน แม้บางประเทศ เช่น ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่โดยภาพรวมด้านประชากรของอาเซียนยังมีวัยทำงานที่ทำให้สามารถเพิ่มระดับรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชาติในอาเซียนที่มีรายได้น้อยยกระดับประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในภาคการผลิต และบริการก็จะพัฒนาขึ้นได้เช่นกัน
นายปรเมธี ย้ำว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าสร้างโอกาสทางการลงทุนด้วยการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน เช่น เขตเศรษฐกิจรอบพื้นที่ชายแดน การลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมการบิน ท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน นอกจากนี้ ควรที่จะสร้างกำลังซื้อภายในประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ถือว่าที่ผ่านมา การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มมีความชัดเจน ทำให้กำลังซื้อ และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับเข้ามา ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงติดลบอยู่ แต่ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก และยังไม่น่าห่วง
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะส่งผลให้โจทย์ในการทำธุรกิจจากนี้ไป จะต้องพิจารณาว่า จะสามารถใช้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของเออีซี ที่มีขนาดตลาดใหญ่กว่าประเทศไทย 7-8 เท่าให้เหมาะสมได้อย่างไร เพราะโอกาสในการทำธุรกิจจะง่าย และสะดวกขึ้น ซึ่งเป็นผลจากข้อกีดกันทางการค้า และอุปสรรคในการลงทุนที่ลดลง แต่อีกมุมหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องยอมรับ คือ จะมีนักลงทุนจากชาติอื่นในอาเซียนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการในอาเซียนจะต้องจับมือร่วมกันทำธุรกิจค้าขายระหว่างกันเป็นทีมอาเซียน โดยต้องพิจารณาว่า แต่ละประเทศเหมาะสมที่จะผลิตสินค้าอะไร เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และหากภาครัฐ และเอกชนไทย มีความร่วมมือขับเคลื่อน Thailand 4.0 โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่าร้อยละ 3 เป็นไปได้ โดยเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอยู่ในระดับ 3.5-4.0 มีความเป็นไปได้ ขณะที่ 5-10 ปีจากนี้ไปเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องวางแผนให้สามารถเชื่อมโยงกับชาติอาเซียน ผ่านการพัฒนา Thailand 4.0 เพราะเศรษฐกิจของชาติอาเซียน มีทั้งเกื้อกูล และแข่งขันกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องวางแผนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ให้ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังมีขนาดเล็กยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่อัตราการเติบโตของไทยจะต้องไม่ใช่อยู่ในระดับร้อยละ 3-4 ต่อปีเท่านั้น
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 เพื่อให้หลุดพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยประเทศไทยจะต้องสร้างความแกร่งจากภายใน พร้อมกับเชื่อมโยงกับโลก เช่น เชื่อมต่อกับ CLMV ซึ่งหมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเชื่อมต่อในทุกด้าน และมองเป็นตลาดเดียวกัน ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ลอจิสติกส์ โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัย และพัฒนา ซึ่งนำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ ด้านภาคบริการจะต้องพัฒนาสู่ภาคบริการที่มีมูลค่าสูง พร้อมกับเปลี่ยนภาคการเกษตรสู่การเกษตรยุคใหม่ ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาเอสเอ็มอีสู่ เอสเอ็มอี 4.0 ประการสำคัญ Thailand 4.0 จะเกิดขึ้นได้ จะต้องผ่านกลไกประชารัฐ หาใช่ดำเนินการแต่เพียงภาครัฐเท่านั้น