xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยเร่งเจาะตลาดอาหารฮาลาลอินโดฯ โต 20% ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย(ประเทศไทย) จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - “ยูบีเอ็ม เอเชีย” แนะเทคนิคเจาะตลาดอาหารฮาลาลอินโดฯ เพิ่มจาก 2.4 หมื่นล้านบาท ของมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท หวังช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยขยับอันดับผู้ส่งออกอาหารฮาลาลในตลาดโลกจากลำดับที่ 13 เป็น 1 ใน 5 ภายในปี 2563

น.ส.รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 5 พันราย ขณะที่มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองมาตรฐานฮาลาลสูงกว่า 1 แสนรายการ โดยมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 13 ของโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ เป็นสินค้าอาหารแปรรูปขั้นต้น น้ำตาลทราย แป้งดิบจากมันสำปะหลัง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มไม่อัดลม รวมถึงผักและผลไม้ เช่น ลำไยสด หอมหัวเล็ก เป็นต้น คาดว่าจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ภายใน 3 ปี ขณะที่ภาครัฐมีเป้าหมายให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2563

สำหรับตลาดส่งออกอาหารฮาลาลที่น่าสนใจ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากจำนวนทั้งหมดมากกว่า 253.7 ล้านคน จึงถือเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี โดยประเทศไทยมีการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังอินโดนีเซียประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการนำเข้าอาหารฮาลาลของอินโดนีเซียแล้วยังถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก เพราะอินโดนีเซียนิยมนำเข้าอาหารฮาลาลจากประเทศมุสลิม หรือไม่ก็มักจะนำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีการผลิตสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐาน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น

“ประเทศไทยยังค่อนข้างเสียเปรียบด้านการแข่งขันในอินโดนีเซีย เนื่องจากมีข้อจำกัดที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังขาดความสม่ำเสมอในการส่งออก ทำให้สินค้าอยู่ในตลาดไม่นานพอ อีกทั้งยังมักจะส่งออกสินค้าเป็นจำนวนไม่มากนักจึงไม่สามารถกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายได้อย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพ รสชาติ และความสะอาดของอาหารไทยถือเป็นสิ่งที่ชาวอินโดนีเซียให้การยอมรับและนิยมมาก จนขนานนามและวางใจใน “Bangkok Product” ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาความถี่และกระจายการส่งออกให้ทั่วถึงได้ ย่อมสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานอาหารฮาลาลได้และจะสามารถแข่งขันกับประเทศส่งออกอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม

น.ส.รุ้งเพชรกล่าวด้วยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมอาหารฮาลาลของประเทศไทยจึงกำหนดจัดงาน Food Ingredient Asia 2016 (Fi Asia 2016) ในระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ จาการ์ตาอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์โป ประเทศอินโดนีเซีย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของพื้นที่การจัดงานและจำนวนผู้ร่วมชมงาน

การจัดงาน Fi Asia 2016 เพิ่มพื้นที่การจัดงานเป็น 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านส่วนผสมอาหารเข้าร่วมแสดงสินค้าจำนวน 716 บริษัท จาก 47 ประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมชมงานประมาณ 1.6 หมื่นคน คิดเป็นชาวอินโดนีเซีย 85% และชาวต่างชาติ 15% ส่วนการจัดงานในปี 2560 ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตขึ้นทั้งในส่วนของพื้นที่การจัดงานและจำนวนผู้ร่วมชมงาน ประมาณ 29-30%




กำลังโหลดความคิดเห็น