กสอ.ดันยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป คาดแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง พร้อมชิงความได้เปรียบสร้างผู้ประกอบการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง ใช้พัฒนากระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล ล่าสุดโชว์ตัวอย่างเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่คิดค้น “ข้าวเหนียวมูลฮาลาลพร้อมรับประทาน” เจาะตลาดมุสลิมและคนรักสุขภาพ
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา (Research&Development) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากการเน้นภาคเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเบา พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมหนัก และกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการสร้างสรรค์ทางนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างเอสเอ็มอี และโอทอป ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยเพิ่มระดับความสามารถ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารไทยประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ ประกอบด้วย ข้าว น้ำตาลทราย ปลาทูน่ากระป๋อง และมันสำปะหลัง แต่ปัจจุบันความสามารถในการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนั้นยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น ขาดการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น ดังนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงพยายามในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมภาคการผลิตโดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอป โดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มบนฐานองค์ความรู้ จากการวิจัยและพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา ตลอดจนการส่งเสริมการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานขั้นสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป การพัฒนาสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานสากล การส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และเทคโนโลยี การพัฒนาศัพยภาพเอสเอ็มอีด้วยระบบดิจิตอล การพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศได้อย่างเดียว แต่ต้องพิจารณามองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มตลาดอาหารฮาลาลซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยส่งออกติดอันดับ TOP 5 ของโลก ภายในปี 2563 ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีบทบาทในการมุ่งเน้นกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุดคือ ความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการขอรับการตรวจรับรองฮาลาลให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหันมาให้ความสนใจขอรับเครื่องหมายฮาลาลให้มากขึ้นและยึดมั่นในระเบียบข้อบังคับตามบทบัญญัติของหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอาหารฮาลาลในรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนามาตรฐานการผลิต การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ ตั้งเป้าภายในปีนี้พัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มอาหารฮาลาล ไม่ต่ำกว่า 185 ราย ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล 5,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงกว่า 100,000 รายการ (ข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) มีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาล 200,000 ล้านบาท คาดว่าใน 3 ปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
ด้าน นายกัมพล สิริประภาพรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท สิริไฟน์ฟู้ดส์เฮลตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ AEC โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป โครงการสร้างเครือข่ายระดับประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพของวัตถุดิบ ด้วยการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดีและมีคุณภาพ ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ซึ่งแต่เดิมผลิตภัณฑ์จะมีเพียงข้าวสวยพร้อมรับประทานในรูปแบบของข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งหลังจากได้เข้าโครงการของ กสอ.แล้วจึงเห็นว่าควรพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวผัดพริกไทยดำ ข้าวผัดแกงเขียวหวาน และข้าวผัดต้มยำ แบบสามารถบริโภคได้ทันที ภายใต้ชื่อ 'อรุณสวัสดิ์' โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลอินทรีย์ (Organic Halal Food) และผู้ทานมังสวิรัติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้พัฒนาข้าวเหนียวมูลพร้อมรับประทาน (Ready to eat) โดยนำเอานวัตกรรมการถนอมอาหารแบบไม่ใช้สารกันเสียมาใช้ และลดปริมาณน้ำตาลลงกว่าข้าวเหนียวมูลปกติถึงครึ่งนึง แต่ได้ความหวานในระดับปกติตามแบบข้าวเหนียวมูลทั่วไปที่วางขาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่จะใช้เทคนิคพิเศษในขั้นตอนการผลิตเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและรสชาติของอาหารไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้เย็น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *