xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องเจาะตลาดอาหารอินโดฯ ชิงเค้กก้อนโต 9 พันล้านเหรียญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอันดับต้นๆ ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาด 6.3% จากทั่วโลก ถือเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน

ในปี 2558 อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.15 ล้านล้านบาท (32,960 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปี 2559 มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท (4,093 ล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตขึ้น 0.6% โดยอาหารส่งออกที่น่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ อาหารกลุ่มผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป มีการเติบโตขึ้น 14.3% คิดเป็นมูลค่า 3.36 หมื่นล้านบาท (962 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับสัดส่วนการส่งออกอาหารของไทย 59.8% อยู่ในเอเชีย โดยส่วนใหญ่ 14% ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม) 13.7% โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเวทีอาเซียนคือคุณภาพสินค้า รสชาติ แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายจากรสนิยมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศอย่างละเอียด ประการสำคัญคือการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการนำเข้า การจดสิทธิบัตร และข้อบังคับในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนการเลือกผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ของตนที่มีศักยภาพเครือข่ายที่ดีและมีความน่าเชื่อ

หัวใจสำคัญของการเพิ่มมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยจึงถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรับประยุกต์ให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละประเทศ เพราะการนำวัตถุดิบมาแปรรูปแล้วส่งออกโดยขาดนวัตกรรมและกระบวนการคิดจะไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดอีกต่อไป ดังนั้นนวัตกรรมและส่วนผสมอาหาร หรือ Food Ingredients ที่ช่วยเพิ่มสีและกลิ่นโดยยังรักษารสชาติให้คงอยู่ รวมถึงสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ให้อาหารจึงจะสร้างความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกได้
ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 แนะบุกตลาดอาหารอินโดฯ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

“อินโดนีเซีย” ถือเป็นประเทศที่เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหาร ด้วยจุดเด่นด้านจำนวนประชากรสูงถึง 253.7 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่มีภาวะเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตและกลายเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2563

ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารคิดเป็นมูลค่ามากถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากกำลังการผลิตและวัตถุดิบในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะนำไปผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ โดยปัจจุบันพบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจอาหารในอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เช่น โคคา-โคลา, เป๊ปซี่ และดานอน ซึ่งกำลังมีอิทธิพลสูงมากในธุรกิจอาหารของอินโดนีเซีย

“ขณะเดียวกัน กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะผู้บริโภคอินโดนีเซียที่มีกำลังซื้อสูงมีจำนวนประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะชาวจีน-อินโดฯ ที่พักอาศัยอยู่ในเมืองจาการ์ตา สุราบายา และเมืองเมดาน ซึ่งถือเป็นเมืองหลักทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยคาดว่าในช่วงปี 2558-2561 ประชากรมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อคนเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 8.2% เนื่องจากมีการขยายการลงทุนของภาครัฐ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ”

 จับตาตลาด “ฮาลาล” มูลค่า 6-8 ล้านล้านบาทต่อปี 

เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จึงทำให้สินค้าอาหารที่ผลิตเองและนำเข้า 90% เป็น “อาหารฮาลาล” โดยตลาดอาหารฮาลาลยังถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี อันเนื่องมาจากการขยายตัวของกลุ่มประชากรมุสลิม คาดว่าภายใน 10-20 ปีข้างหน้าประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.5-1.7 พันล้านคน โดยภูมิภาคอาเซียนมีสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมสูงถึง 30-40% ขณะที่ผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลยังมีอยู่น้อยราย

ผศ.ดร.ชุติมากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาล ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6-8 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารฮาลาลในสัดส่วนน้อยมาก คิดเป็นเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องพัฒนาแนวทางการทำตลาดฮาลาล โดยหาพันธมิตรทางการค้าและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยไปสู่ระดับสากล

 โอกาสและความท้ายทายผู้ประกอบการไทย 

ในมุมมองของผู้นำเข้าสินค้าอาหารในประเทศอินโดนีเซียเห็นว่า ผลิตภัณฑ์อาหารไทยมีจุดเด่นในเรื่องของตราสินค้าและคุณภาพสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นจึงทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยสามารถแข่งขันด้านราคาจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนลอจิสติกส์ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือ “การรับรองเครื่องหมายฮาลาล” ให้เป็นที่ยอมรับ เพราะในปัจจุบันอินโดนีเซียยอมรับมาตรฐานฮาลาลของประเทศมาเลเซียมากกว่าประเทศไทย เนื่องจากการเป็นประเทศมุสลิมเช่นกัน แต่หากผู้ประกอบการไทยเดินหน้ารักษามาตรฐานฮาลาลและให้ความสำคัญกับ “เครื่องหมายฮาลาล” ว่าเป็นระบบประกันกระบวนการผลิตประเภทหนึ่งก็จะสร้างการยอมรับได้ในที่สุด

“ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีของโลก จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดยปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต” ผศ.ดร.ชุติมากล่าวในตอนท้าย
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
 “ยูบีเอ็ม เอเชีย” ร่วมสร้างความรู้วิชาการ 

น.ส.รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า เปิดเผยว่า “ยูบีเอ็ม เอเชีย” เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการขนาดใหญ่ที่มีบทบาทเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายในภาคการผลิตและการลงทุนเข้าด้วยกัน จากการเห็นถึงศักยภาพการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นและสภาพเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมยังมีความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการเติบโตและการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ

“ยูบีเอ็ม เอเชีย” จึงได้ขยายความร่วมมือไปยังภาคการศึกษา โดย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านงานวิจัย รวมถึงร่วมเป็นวิทยากรสำหรับงานสัมมนาของงาน Fi Asia ระหว่างปี 2559-2560 เพื่อยกระดับความรู้ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อาหาร แนวโน้มตลาดอาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อกำหนดและโอกาสในการส่งออกอาหารในอาเซียน

“เราได้ขยายการลงทุนในอาเซียนค่อนข้างมากและครอบคลุมการจัดงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารแห่งเอเชีย หรือ Food Ingredient Asia ซึ่งจัดหมุนเวียนในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และงานแสดงเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำ หรือ Livestock Asia ที่จัดหมุนเวียนในเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดย ยูบีเอ็ม มุ่งสร้างความเป็นเลิศทางธุรกิจจากการเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้า พร้อมศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลก เพื่อนำมาเชื่อมโยงและต่อยอดให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจและยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”
นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน (ที่ 2 จากขวา) บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ร่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล (ที่ 2 จากซ้าย) คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแพร่ความรู้ด้านงานวิจัยเพื่อยกระดับความรู้ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อาหาร แนวโน้มตลาดอาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อกำหนดและโอกาสในการส่งออกอาหารในอาเซียน
 จัดงาน Fi Asia กระตุ้นการลงทุนในอินโดฯ 

ล่าสุด “ยูบีเอ็ม เอเชีย” กำหนดจัดงาน Food Ingredient Asia 2016 (Fi Asia) ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ จาการ์ตาอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์โป ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบันมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 % โดยในปีนี้ยังได้เพิ่มพื้นที่การจัดจาก 5 พันตารางเมตร เป็น 8 พันตารางเมตร เพื่อรองรับผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านส่วนผสมอาหารเข้าร่วมแสดงสินค้าแล้วกว่า 650 บริษัท จาก 40 ประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมชมงานประมาณ 1.6 หมื่นคน คิดเป็นชาวอินโดนีเซีย 85% และชาวต่างชาติ 15%

น.ส.รุ้งเพชรกล่าวด้วยว่า ภายในงาน Fi Asia 2016 ได้สร้างความพิเศษอย่างหนึ่งคือ “โซนแสดงนวัตกรรม” (Innovation Zone) ซึ่งจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมชิ้นเด่นในช่วงปี 2558 จากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าวิจัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ งานสัมมนาอาหารฮาลาลนานาชาติ และงานสัมมนาการศึกษาการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายสินค้าไปตลาดอินโดนีเซีย เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการชมเทคโนโลยีส่วนผสมอาหาร สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และสำรวจความต้องการผู้บริโภคอินโดนีเซียไปพร้อมกัน

“นอกจากโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดกับนักธุรกิจในแวดวงอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถพบนวัตกรรมอาหารที่ภาคเอกชนได้พัฒนาเพื่อสร้างความแตกต่างในการนำไปใช้การวิจัยพัฒนาสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคและตามลักษณะการผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูปซึ่งจะเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ การนำเสนออาหารให้น่ารับประทาน การใช้ส่วนผสมให้เหมาะกับการเก็บรักษา และการผลิตอาหารที่ปัจจุบันเน้นอาหารประเภทอาหารพร้อมรับประทาน” น.ส.รุ้งเพชรกล่าวในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น