9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ทั้งยังมีการเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี!
นั่น...คือมูลค่าการตลาดรวมอาหารฮาลาลในประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังอินโดนีเซียคิดเป็นเงินบาทเพียง 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากมูลค่าการส่งออกรวม 2 แสนล้านบาท
นั่น...จึงเป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยที่ต้องการเจาะตลาดอาหารฮาลาลในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นชาติหนึ่งที่มีประชากรชาวมุสลิมเกือบจะมากที่สุดในโลกจากจำนวนประชากรทั้งหมด 253.7 ล้านคนซึ่งมีความต้องการด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น 8.2% ต่อปี
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบายชัดเจนที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลกติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 13 ของโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารแปรรูปขั้นต้น น้ำตาลทราย แป้งดิบจากมันสำปะหลัง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มไม่อัดลม รวมถึงผักและผลไม้ เช่น ลำไยสด หอมหัวเล็ก เป็นต้น
การเริ่มต้นเปิดตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียอย่างจริงจังจึงน่าจะเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะเดินตามเป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะหากผู้ประกอบการไทยสามารถฝ่าฟันข้อจำกัดนานาประการในการทำตลาดประเทศมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
นั่น…ย่อมหมายถึงโอกาสที่สดใสสำหรับการเปิดตลาดในประเทศมุสลลิมอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลางได้อย่างราบรื่น
การจัดงาน Food Ingredient Asia 2016 (Fi Asia 2016) ของ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า เมื่อวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ จาการ์ตาอินเตอร์เนชันแนลเอ็กซ์โป ประเทศอินโดนีเซีย จึงเท่ากับเป็นแรงเสริมให้ผู้ประกอบการอาหารไทยสามารถค้นพบช่องทางในการเจาะตลาดอาหารฮาลาลได้อย่างถึงแก่นมากยิ่งขึ้น
ชี้ช่องลงทุนบนเกาะชวา
ผศ.ดร.นูริ อันดาร์วูลัน ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารและการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารในประทศอินโดนีเซียว่า เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับชาวอินโดนีเซียกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ด้วยเหตุที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้การผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอาหารฮาลาลซึ่งส่วนใหญ่ยังนำเข้าจากประเทศมุสลิม และประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีการผลิตสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐาน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น
ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศอินโดนีเซียมี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. ส่วนผสมอาหารหลัก ได้แก่ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล และน้ำมัน เป็นต้น 2. ส่วนผสมอาหารที่ให้ผลทางกายภาพ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงสารต่อต้านอนุมูลอิสระ 3. ส่วนผสมอาหารที่ช่วยเสริมอาหารหลัก เช่น สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล และสารกันบูด เป็นต้น
ผศ.ดร.นูริ อันดาร์วูลัน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีสินค้าอาหารฮาลาลไทยที่ได้รับความนิยมในอินโดนีเซียมากขึ้นจนได้รับการเรียกขานว่า Bangkok Product เพราะมั่นใจในเรื่องรสชาติ คุณภาพ และมาตรฐาน แต่การทำตลาดอาหารฮาลาลของผู้ประกอบการไทยในประเทศอินโดนีเซียยังขาดความต่อเนื่องในแง่ของจำนวนสินค้าและความถี่ในการส่งออก รวมถึงมาตรฐานการได้รับเครื่องหมายอาหารฮาลาลจากหน่วยงานกลางของประเทศอินโดนีเซียคือ BPOM ซึ่งมีหน้าที่เช่นเดียวกับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย
Q1/59 ต่างชาติแห่ลงทุน 30%
นายอดิฮ์ เอส.ลุคมาน ประธานสมาคมอาหารและเครื่องดื่ม ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ หลังจากพบว่า ในปี 2558 อาหารและเครื่องดื่มมีการเติบโตสูงถึง 7.5% ของจีดีพีรวมประเทศ 5.2% ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2559 มีการเติบโตสูงถึง 8.2% และมีสัดส่วนสูงถึง 33% ของจีดีพีรวม
“อาหารและเครื่องดื่มถือเป็นสินค้าที่สำคัญของอินโดนีเซีย เพราะถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรเป็นจำนวนมากในลำดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้ยังไม่สามารถผลิตอาหารและเครื่องดื่มได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 มีการลงทุนสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการลงทุนของนักลงทุนท้องถิ่น 70% และต่างชาติ 30%”
ประธานสมาคมอาหารและเครื่องดื่ม ประเทศอินโดนีเซียกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมีการตั้งโรงงงานในอินโดนีเซียแล้วหลายราย เช่น โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่, เนสท์เล่, บิ๊กโคล่า, ซันโตรี่ เป็นต้น ขณะที่การลงทุนจากประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ กระทิงแดง
“ตลาดอาหารฮาลาลของอินโดนีเซียยังมีช่องว่างและเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยมาก โดยเฉพาะจากเทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบันที่นิยมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมรับประทานและพร้อมดื่ม หรือ RTE และ RTD รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มเพื่อให้พลังงาน ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยมีความชำนาญในการทำตลาดด้านนี้” นายอดิฮ์ เอส.ลุคมาน กล่าวในตอนท้าย
Fi Asia 2016 โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ด้าน น.ส.รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า เปิดเผยว่า “ยูบีเอ็ม เอเชีย” ได้ขยายความร่วมมือไปยังภาคการศึกษา โดย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านงานวิจัย รวมถึงร่วมเป็นวิทยากรสำหรับงานสัมมนาของงาน Fi Asia ระหว่างปี 2559-2560 เพื่อยกระดับความรู้ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อาหาร แนวโน้มตลาดอาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อกำหนดและโอกาสในการส่งออกอาหารในอาเซียน
การจัดงาน Fi Asia 2016 จึงมีการเพิ่มพื้นที่การจัดงานเป็น 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านส่วนผสมอาหารเข้าร่วมแสดงสินค้าจำนวน 716 บริษัท จาก 47 ประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมชมงานประมาณ 1.6 หมื่นคน คิดเป็นชาวอินโดนีเซีย 85% และชาวต่างชาติ 15% ส่วนการจัดงานในปี 2560 ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตขึ้นทั้งในส่วนของพื้นที่การจัดงานและจำนวนผู้ร่วมชมงานประมาณ 29-30%
“งาน Fi Asia 2016 ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการแลกเปลี่ยนความคิดกับนักธุรกิจในแวดวงอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วโลก ทั้งยังสามารถพบนวัตกรรมอาหารที่ภาคเอกชนได้พัฒนาเพื่อสร้างความแตกต่างในการนำไปใช้การวิจัยพัฒนาสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคและตามลักษณะการผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูป ซึ่งจะเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ การนำเสนออาหารให้น่ารับประทาน การใช้ส่วนผสมให้เหมาะกับการเก็บรักษา และการผลิตอาหารที่ปัจจุบันเน้นอาหารประเภทอาหารพร้อมรับประทาน” น.ส.รุ้งเพชรกล่าว
แนะผู้ประกอบการไทยลงทุนร่วมนักธุรกิจท้องถิ่น
ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายที่จะให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการให้นักธุรกิจและภาคเอกชนสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารซึ่งถือว่าจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการรักษาความสดสะอาดและรสชาติ ตลอดจนคุณภาพในทุกๆ ด้าน
ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดเปิดใหม่ที่นักธุรกิจต่างชาติกำลังให้ความสนใจ แต่ด้วยเหตุที่ยังมีความเป็นท้องถิ่นสูงและข้อจำกัดหลายๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารฮาลาล เพราะฉะนั้นนักธุรกิจไทยที่ต้องการเปิดตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียจึงไม่อาจที่จะนำกลยุทธ์ต่างๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปใช้ได้ แต่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มระดับโลกและมีการทำงานเป็นเครือข่าย โดยมีการผสมผสานรายละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง ช่องทางจัดจำหน่าย และอื่นๆ
“ชาวอินโดนีเซียในยุคปัจจุบันแม้จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้นและมีความเป็นไลฟ์สไตล์สูง ขณะเดียวกันผู้หญิงก็เริ่มมีการทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ยังคงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารพร้อมกันเป็นครอบครัวและนิยมซื้ออาหารสดมาประกอบภายในบ้าน โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นธัญพืช อาหารกึ่งสำเร็จรูป ซอส เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังค่อนข้างเสียเปรียบด้านการแข่งขันในอินโดนีเซีย เนื่องจากมีข้อจำกัดที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังขาดความสม่ำเสมอในการส่งออก ทำให้สินค้าอยู่ในตลาดไม่นานพอ อีกทั้งยังมักจะส่งออกสินค้าเป็นจำนวนไม่มากนักจึงไม่สามารถกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
ผู้ประกอบการจากประเทศไทยจึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับกฎหมายและข้อจำกัดด้านการทำตลาด โดยเฉพาะมาตรฐานเครื่องหมายอาหารฮาลาล รวมถึงการเจรจาเพื่อความร่วมมือทางการค้ากับพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งถือเป็น “จุดเริ่มต้น” สำคัญในการพบความสำเร็จทางการตลาดในอินโดนีเซีย