xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงแผนธุรกิจ “ส.ขอนแก่น” สร้างอินเตอร์แบรนด์ “SKF”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)
ผู้จัดการรายวัน 360 - “ส.ขอนแก่น” เดินหน้ายกระดับแบรนด์เป็น “SKF” มุ่งรักษาผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องปีละ 15% ก่อนแตะ 6 พันล้านบาทตามแผน “วิสัยทัศน์ 2020” ในการเป็น “ผู้นำอาหารไทยในระดับโลก” เตรียมแผนร่วมทุนทุกรูปแบบเพื่อจัดตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายในทุกทวีป หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 10% ตั้งเป้าขยายธุรกิจครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV ใน 3 ปี พร้อมเปิดตลาดอาหารฮาลาลเต็มสูบหลังลงทุนเพิ่ม 370 ล้านบาท

ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้รวมประมาณ 2.4 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 11% โดยคาดว่าในปี 2559 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 15% หลังจากช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมายังคงรักษาระดับการเติบโตได้ประมาณ 11-12% โดยยังคงเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักประมาณ 92% และส่งออก 8% เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราการแลกเปลี่ยน และการแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เป็นต้น

ปัจจุบันบริษัทฯ มีสินค้าและบริการมากกว่า 20 แบรนด์ รวม 200-250 รายการ ครอบคลุม 6 หมวดหมู่ ได้แก่ อาหารพื้นเมือง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 41% อาหารทะเลแปรรูป 38% สแน็ก 6% ฟาร์มสัตว์ 6% น้ำพริก 4-5% และร้านอาหารประเภท QSR 3-4% โดยในปี 2559 บริษัทฯ จะเน้นการสร้างแบรนด์ที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากกว่าการเพิ่มแบรนด์ใหม่และอาจมีการปรับลดให้เหลือเพียง 10 แบรนด์ โดยแต่ละหมวดหมู่สินค้าจะเน้นไปยังแบรนด์หลัก ได้แก่ “ส.ขอนแก่น” ในหมวดอาหารพื้นเมือง, “แต้จิ๋ว” ในหมวดอาหารทะเลแปรรูป, “ออง-เทร่” ในหมวดสแน็ก, ร้านอาหาร “แซ่บคลาสสิค” ในหมวดร้านอาหารไทย-อีสาน และร้านข้าวขาหมู “ยูนนาน” เป็นต้น

*** เร่งสร้างอินเตอร์แบรนด์ “SKF” ***
ดร.เจริญกล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ยังมีแผนสร้างแบรนด์ “ส.ขอนแก่น” ให้เป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ หรือ Global Brand ภายใต้ชื่อ “SKF” ซึ่งย่อมาจาก S.KHOAKAEN FOODS โดยจะเริ่มมีการศึกษารายละเอียดว่านอกจากอาหารพื้นเมืองแล้วจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ใดบ้างตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ก่อนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นมีข้อสรุปว่าในส่วนของอาหารทะเลแปรรูปจะยังคงใช้แบรนด์ “แต้จิ๋ว” เนื่องจากมีการใช้ภาษาอังกฤษว่า “CHIU CHOW” กำกับควบคู่มาตั้งแต่ต้นจนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคแล้ว

“แผนการสร้างแบรนด์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ 2020 ซึ่งมุ่งสู่การเป็นผู้นำอาหารไทยในระดับโลก พร้อมรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่เป้าหมายรายได้รวม 6 พันล้านบาท ด้วยสัดส่วนในประเทศ 90% และส่งออก 10% ไปยัง 30 ประเทศทั่วโลกจากปัจจุบันที่มีประมาณ 20 ประเทศ”

ดร.เจริญกล่าวอีกว่า แนวทางการดำเนินงานนับจากนี้ไปจะเน้นกลยุทธ์การร่วมทุน (Joint Venture) ในทุกรูปแบบ โดยในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองและอาหารทะเลแปรรูปนั้นมีแผนจัดตั้งบริษัทเพื่อทำหน้าที่จำหน่ายและกระจายสินค้าในทุกทวีป จากปัจจุบันที่ในทวีปเอเชียมีประเทศไทยเป็นหลัก, ออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์ในทวีปยุโรป โดยเร็วๆ นี้จะสรุปรายละเอียดกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของคนไทยในสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดตั้งบริษัทจำหน่ายและกระจายสินค้าในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จากนั้นจะมีการศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทในตะวันออกลางเพื่อกระจายสินค้าเข้าไปยังทวีปแอฟริกาเป็นลำดับต่อไป

“ปัจจุบันชาวต่างชาติมีความนิยมและต้องการอาหารไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจอาหารไทยเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของบริษัทฯ หลังจากที่มีการเจรจากับนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น 4 ราย ฮ่องกง 3 ราย จีน 2 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย คาดว่าจะได้ผลสรุปในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทฯ มีแนวทางการดำเนินงานในเบื้องต้นคือการจำหน่ายและกระจายสินค้าเป็นหลัก พร้อมกับว่าจ้างผู้ผลิตในประเทศนั้นๆ ดำเนินการผลิตให้ในลักษณะ OEM ซึ่งถ้าหากสามารถทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปีก็จะมีการพิจารณาลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอนาคต”

*** รุกตลาดฮาลาล เพิ่มรายได้ 10% ใน 3 ปี ***
ดร.เจริญกล่าวด้วยว่า ในปี 2559 บริษัทฯ มีนโยบายเปิดตลาดอาหารฮาลาลอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่ปลายปี 2558 มีการขยายการลงทุนโรงงานผลิตอาหารฮาลาลใน อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร จากพื้นที่เดิม 10 ไร่เป็น 34 ไร่ ด้วยงบฯ ลงทุน 370 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องจักรผลิตอาหารทะเลแปรรูป 300 ล้านบาทด้วยกำลังการผลิต 1.5 หมื่นตันต่อปีจากเดิมที่มี 9 พันตันต่อปี และเครื่องจักรผลิตสแน็ก 70 ล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 200 ตันต่อปี โดยขณะนี้เริ่มทดลองเดินสายการผลิตแล้วคาดว่าจะดำเนินการได้เต็มรูปแบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เป็นต้นไป

บริษัทฯ ยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในส่วนของอาหารฮาลาลคือไก่แผ่นอบกรอบตรา “ออง-เทร่” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นจะเน้นจัดจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในพื้นที่ 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนที่จะขยายไปยังช่องทางอื่นๆ พร้อมมีการจัดงบประมาณการตลาด 10% เน้นสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคชาวมุสลิมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

“เหตุผลที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องอาหารฮาลาล เพราะเห็นถึงโอกาสการสร้างรายได้จากจำนวนประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน ประกอบกับในตลาดยังมีช่องว่างเรื่องผลิตภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่มีเพียงถั่วและมันฝรั่ง แต่ยังขาดอาหารขบเคี้ยวชนิดอื่นๆ โดยเบื้องต้นจะเริ่มทำตลาดในดูไบ, ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศมุสลิมอื่นๆ โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จากอาหารฮาลาลประมาณ 10%”

ดร.เจริญกล่าวด้วยว่า ตามแผนธุรกิจและเป้าหมายการรุกตลาดฮาลาลดังกล่าว บริษัทฯ ยังเตรียมนำบริษัทในเครือที่ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปและอาหารฮาลาลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Mai โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนในการขยายโรงงานและเครื่องจักรในลำดับต่อไป

*** ตั้งเครือข่ายครบ CLMV ใน 3 ปี ***
ดร.เจริญยังกล่าวถึงแผนงานขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ธุรกิจร้านข้าวขาหมู “ยูนนาน” นำร่องในประเทศลาว 2 แห่งในกรุงเวียงจันทน์ โดยมีแผนเพิ่มเป็น 3 แห่ง พร้อมขยายไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายในปี 2559 ก่อนที่จะเปิดตลาดในประเทศพม่าและเวียดนามเป็นลำดับต่อไป โดยบริษัทฯ ยังให้การสนับสนุนนักธุรกิจท้องถิ่นในการจัดตั้ง บริษัท ลาว อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อทำหน้าที่จำหน่ายสินค้าอาหารพื้นเมืองประเภทหมูหยองและหมูแผ่น พร้อมกระจายสินค้าทั่วประเทศลาว โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจะทำหน้าที่ครอบคลุมทุกประเทศในกลุ่ม CLMV



กำลังโหลดความคิดเห็น