xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างชี้ค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาท/วันต่างด้าวทะลักเข้าไทย-SMEs เจ๊งอีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การนายจ้างฯ ค้านแนวคิดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวันทั่วประเทศ ชี้ปีหน้า ศก.ไทยก็ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ย้ำผลร้ายมากกว่า เหตุจะดึงแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย ดันต้นทุน SMEs พุ่งอาจเกิดเจ๊งได้อีก ชี้ให้ดูอดีตเป็นตัวอย่าง ขณะที่ สอท.ตอกย้ำถ้าค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศก็ยากจะเห็นโรงงานเกิดขึ้นในเขต ศก.พิเศษ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันเป็น 360 บาทต่อวันเห็นว่าเป็นระดับที่สูงเกินไป เพราะการขึ้นทันทีอีก 60 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศจะเป็นผลร้ายมากกว่าดี โดยเฉพาะจะผลักดันให้แรงงานต่างด้าวที่ขณะนี้มีอยู่เกือบ 3 ล้านคนลักลอบมาค้าแรงงานในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังค่าแรงทั้งระบบต้องปรับขึ้น ซึ่งภาระดังกล่าวจะตกหนักที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และอาจทำให้ธุรกิจขาดทุนจนปิดกิจการ

“เรื่องนี้รัฐเองก็จะพิจารณาเดือนตุลาคมในรายละเอียดอีกครั้ง โดยการปรับขึ้นค่าจ้างอาจเป็นต้นปี 2560 แต่จะขึ้นเท่าใด อย่างไรก็ต้องรอดูรายละเอียด และเห็นว่าต้องหารือกันในไตรภาคี แต่การจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็น 360 บาทต่อวันผมคิดว่าไม่ว่าจะปีนี้หรือปีหน้าเศรษฐกิจเราก็ไม่ดีถึงขั้นจะขึ้นไปในระดับดังกล่าวได้ และเป็นอัตราที่จะเป็นผลเสียมากกว่าดี ซึ่งอดีตที่ผ่านมาเราขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศก็มีตัวอย่างโรงงานเจ๊งให้เห็นแล้วในต่างจังหวัด” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการค่าจ้างที่การปรับขึ้นค่าแรงควรจะต้องยึดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 2. ภาวะเงินเฟ้อ 3. ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพิจารณาทั้ง 3 ปัจจัย ในปี 2560 ภาวะเศรษฐกิจไทยเองก็ยังเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ที่ระดับ 3.2% แต่ส่งออกปีนี้ติดลบและปีหน้าก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อน่าจะปรับดีขึ้น แต่ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างแต่ละขนาดกิจการและแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากัน และสิ่งที่ห่วงคือ SMEs และโรงงานในต่างจังหวัดที่ไม่อาจจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นมากได้ทันทีโดยเฉพาะอีก 60 บาทต่อวัน

“โรงงานขนาดใหญ่ที่เน้นใช้แรงงานมีทักษะปัจจุบันเขาก็จ่ายสูงกว่า 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่หากขึ้นเป็น 360 บาทต่อวันเท่ากันมันก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเมื่อขึ้นระดับล่าง กลาง บนก็ต้องปรับขึ้นเป็นระนาด ต้นทุนเหล่านี้ที่สุดก็จะผลักไปสู่การปรับขึ้นสินค้าเป็นปัญหาตามมาเช่นอดีตที่เกิดขึ้น และยังผลักดันไม่ให้เกิดโรงงานในต่างจังหวัดเพราะค่าแรงเท่ากันทุกวันนี้ก็เลยไม่มีโรงงานอยากไปลงทุนในต่างจังหวัดเลยซึ่งเอกชนเราค้านตั้งแต่แรก” นายธนิตกล่าว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเองก็เข้าใจทุกฝ่ายและยืนยันว่าปีนี้คงจะไม่มีการปรับขึ้นแน่ แต่ปี 2560 อาจจะขยับบ้างแต่ต้องเป็นอัตราที่เหมาะสมซึ่งเอกชนเห็นว่าควรจะขึ้นตามทักษะฝีมือ และในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ควรจะเท่ากันเพราะค่าแรงที่เท่ากันทั่วประเทศจึงทำให้นักลงทุนต่างจังหวัดในอดีตปิดกิจการย้ายกลับมาอยู่ส่วนกลางหมดนโยบายกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นจึงไม่เกิด และรัฐบาลปัจจุบันเองก็ต้องการส่งเสริมให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแต่หากค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศเชื่อว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวจริงๆ จะมีไม่มากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น