xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนฟันธงออกไทยปีนี้ติดลบ 2% ธุรกิจชะลอรับแรงงานใหม่-คงค่าจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การนายจ้างฯ มองทิศทางส่งออกปี 2559 ติดลบอย่างต่ำ 2% แน่นอนหลัง 4 เดือนแรกปีนี้ติดลบแล้ว 1.24% เหตุเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางโดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดใหญ่ แต่ GDP ไทยโตได้ 3% เพราะรัฐอัดงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าเกษตรไม่กระเตื้อง ภาพรวมนายจ้างปีนี้ยังคงไม่รับพนักงานเพิ่ม คงค่าจ้างขั้นต่ำ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เดือน เม.ย. 59 การส่งออกของไทยติดลบ 8% ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 59) ติดลบแล้ว 1.24% ดังนั้นหากพิจารณาจากสถิติการส่งออกเฉลี่ยอยู่ระดับปัจจุบันแล้วคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2559 จะติดลบอย่างน้อย 2% อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะยังเติบโตในระดับ 3% เนื่องจากได้อานิสงส์จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

“ปีที่แล้วส่งออกของไทยอยู่ที่ระดับ 2.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.78% จากปี 2557 หากดูการส่งออกที่ดีๆ ช่วง ม.ค. และ ก.พ. 59 อยู่ระดับ 2.080 หมื่นล้านเหรียญก็ยังติดลบถึง 2.9% ดังนั้นโดยรวมส่งออกปีนี้คงติดลบอย่างต่ำ 2% แน่นอนโอกาสยากมากที่จะกลับมาเป็นบวก 2-5%” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยที่ลดลงสะท้อนตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอและเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจจากจีน ขณะเดียวกันสินค้าภาคการเกษตรการส่งออกก็ลดลงเกือบทุกชนิด โดยพบว่า 4 เดือนแรกปีนี้การส่งออกยางพาราติดลบ 15.28% มันสำปะหลังติดลบ 17% ยกเว้นข้าวที่เป็นบวกเล็กน้อย และรวมกับปัจจัยภัยแล้งทำให้ภาพรวมภาคเกษตรไทยไม่ดีนัก ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังสูงจึงส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศหรือสภาพคล่องของประชาชนยังไม่ดีเพียงพอ

ปัจจัยการส่งออกที่ทิศทางติดลบทำให้ภาคอุตสาหกรรมแนวโน้มปีนี้ที่จะรับแรงงานเพิ่มขึ้นจึงน้อยมาก และเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะยังคงเน้นรัดเข็มขัดเพื่อควบคุมต้นทุน อย่างไรก็ตาม กรณีของข้อเสนอลูกจ้างบางส่วนที่ต้องการให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2559 นั้น ขณะนี้ได้มีการหารือ 3 ฝ่าย ทั้งกระทรวงแรงงาน ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางเชื่อว่าหากปรับขึ้นจะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน และเห็นว่าควรจะเน้นการขึ้นเงินค่าจ้างตามคุณภาพฝีมือแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น