xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เผยแนวโน้มราคาสินค้าปี 59 ขาลงจากน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ย้ำภาพรวมราคาสินค้าปี 2559 ขาลงตามทิศทางน้ำมัน แถมตลาดในประเทศแข่งขันสูงเพื่อแย่งชิงแรงซื้อจากคนไทยที่ยังคงรัดเข็มขัดแน่น ภาคผลิตวอนเข้าใจต้นทุนแต่ละอุตสาหกรรมต่างกัน น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยผลิตทั้งหมด

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมราคาสินค้าในปี 2559 ส่วนใหญ่จะมีทิศทางทรงตัวและปรับตัวลดลงมากกว่าที่จะปรับราคาสินค้าขึ้น เนื่องจากต้นทุนจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อต้นทุนการผลิตสินค้าให้ลดลง แต่ทั้งนี้จะลดมากหรือน้อยก็อยู่ที่กระบวนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมที่ต่างกันออกไป ทั้งการใช้พลังงาน วัตถุดิบ แรงงาน ประกอบกับภาพรวมแรงซื้อประชาชนเองยังไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก การแข่งขันในตลาดย่อมสูง การขึ้นราคาสินค้าก็ไม่ง่ายนัก

“ต้นทุนน้ำมันที่ลดต่ำจะมีผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลงมากสุด แต่ค่าขนส่งจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าเท่านั้นเฉลี่ยรวม 5-20% และต้นทุนน้ำมันก็อาจจะไปมีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ที่ลดลงหากเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันก็จะลดลงมากหน่อย เช่น เม็ดพลาสติก แต่ก็จะต้องมองปัจจัยอื่นเช่นวัตถุดิบบางตัวที่ต้องนำเข้าก็จะมีราคาแพงขึ้นเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ค่าแรงที่ไม่ได้ลดลงแต่บางรายอาจต้องแบกภาระจากยอดขายที่ลดลงเพราะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา ฯลฯ เหล่านี้จะต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาหลายสินค้าก็ลดราคาลงไปแล้ว” นายวัลลภกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเองมีการลดราคาสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การจัดทำโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 หรืออื่นๆ เพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าและรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ จะเห็นได้ชัดตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เนื่องจากต้องยอมรับว่าแรงซื้อของคนไทยขณะนี้มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนขณะนี้ ดังนั้นตลาดย่อมเป็นของผู้ซื้อมากกว่าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากนัก ขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้านนั้นรัฐเองก็พยายามเข้าไปควบคุมอยู่แล้ว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ราคาสินค้าภาคการผลิตโดยรวมปี 2559 ยังมีทิศทางลดลงจากต้นทุนน้ำมันที่ต่ำ ประกอบกับแรงซื้อคนไทยที่ยังค่อนข้างใช้จ่ายอย่างระมัดระวังก็ยิ่งกดดันให้มีการแข่งขันด้านราคา สิ่งที่ห่วงคือบางโรงงานมีการระบายสินค้าออกแม้จะมีกำไรน้อยหรือขาดทุนเพื่อที่จะนำเงินมาเสริมสภาพคล่องมากขึ้น

“เวลานี้ปัญหาสภาพคล่องเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วเพราะของขายยากทั้งในและต่างประเทศ บางโรงต้องระบายสต๊อกเก่าออกแม้ขาดทุนดีกว่าไม่ได้เงินเลย ผมเชื่อว่าไม่มีเอกชนรายใดอยากขึ้นราคาสินค้าท่ามกลางสถานการณ์อย่างนี้ แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต่างกันไปและมีโครงสร้างการผลิตต่างกัน” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น