xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐเร่งรับมือวิกฤตแล้ง หวั่นฉุดแรงซื้อกระทบ ศก.ปี 59 ขยายตัวต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกสมาคมพืชสวนฯ และภาคเอกชนแนะรัฐเร่งหามาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง หลังเริ่มชัดเจนน้ำต้นทุนต่ำ นาปรังส่อน้ำไม่พอป้อน หวั่นแรงซื้อเกษตรกรตกต่ำฉุดเศรษฐกิจปี 2559 อาจเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น หนุนอัดเงินส่งเสริม ขุดบ่อ สระน้ำ จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยราคาต่ำ แนะแนวเทคโนโลยีป้อนเหตุเงินกองทุนหมู่บ้านไร้แววโครงการยกระดับภาคเกษตรกรโดยตรง

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าปริมาณน้ำต้นทุนปี 2559 ในเขื่อนหลักที่ป้อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองคงจะไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2559 โดยรัฐขอความร่วมมือให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชช่วงฤดูแล้งแทนนั้น เห็นว่ารัฐควรที่จะกำหนดงบประมาณที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ขุดบ่อบาดาลน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 30-50 เมตร หรือขุดสระน้ำไว้รองรับฤดูแล้ง พร้อมกับการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยมาจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูก ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกษตรกรลดพื้นที่การทำนาปรังและทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนมากกว่า

“ช่วงวิกฤตแล้งปี 36/37รัฐบาลขณะนั้นเคยขุดบ่อบาดาลน้ำตื้น 5 หมื่นบ่อ ซึ่งหลายคนกลัวเรื่องการทรุดตัวของพื้นดิน แต่กรมน้ำบาดาลเขามีตัวเลขชัดมากว่าที่ไหนขุดแล้วไม่กระทบ ซึ่งอดีตที่ทำนับว่าประสบความสำเร็จและควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำนาผสมคือแบ่งพื้นที่ 4 ส่วน คือ ปลูกข้าว ปลูกพืชผสม ขุดสระน้ำ และที่อยู่อาศัย ซึ่งเงินที่รัฐอัดไปผ่านกองทุนหมู่บ้านนั้นน้อยมากที่จะลงไปในการช่วยเหลือทางด้านภาคเกษตรโดยตรง ซึ่งควรจะมีงบที่ชัดเจนในการช่วยเกษตรกรไปเลยจะดีกว่า” นายอนันต์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐต้องเข้าใจว่าแม้จะหันไปปลูกพืชฤดูแล้งหรือพืชใช้น้ำน้อยแต่ก็ยังคงต้องใช้น้ำเช่นกัน โดยอดีตที่ผ่านมาไทยอาจไม่มีปัญหามากแต่เพราะระบบจำนำข้าวทำให้โครงสร้างเปลี่ยนไปเดิมเคยปลูกนาปรังพื้นที่เพียง 4-5 ล้านไร่ที่เหลือเวลาฤดูแล้งก็จะปลูกพืชที่กินน้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว พืชผักอายุสั้น แต่ขณะนี้ระบบจำนำทำให้พื้นที่ปลูกนาปรังเพิ่มเป็น 14 ล้านไร่และพืชฤดูแล้งก็ลดต่ำลงจนหาพันธุ์ปลูกยากขึ้น ดังนั้นจะให้ชาวนาเลิกทำนาปรังทั้งหมดก็คงไม่ง่ายนักรัฐก็ต้องไปส่งเสริมฯ ให้ความรู้ให้เทคโนโลยี แหล่งน้ำ และเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ จะเป็นการค่อยๆ ปรับไปสู่จุดเดิมและเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่าเพราะพืชผักระยะสั้นเป็นที่นิยมบริโภค มีราคาค่อนข้างแพงเพราะประชาชนหันมารักสุขภาพมากขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ต้องระวังเพราะอาจมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ที่หลายฝ่ายมองว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ก็อาจจะไม่เป็นไปตามนี้ได้หากไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงที เพราะแรงซื้อภาคเกษตรกรขณะนี้ตกต่ำอยู่แล้วหากยังไม่สามารถเพาะปลูกทำนาหรือพืชอื่นๆ ที่มีรายได้ดีทดแทนได้ก็จะยิ่งทำให้กำลังซื้อของคนเหล่านี้ลดต่ำลงอีก ซึ่งนั่นหมายถึงหนี้ครัวเรือนก็จะสูงขึ้น

ทั้งนี้ เห็นว่างบประมาณที่รัฐบาลอัดผ่านกองทุนหมู่บ้านนั้นต้องยอมรับว่าโครงการที่ดำเนินการส่วนใหญ่จะตกถึงมือเกษตรกรไม่ทั่วถึงนัก และส่วนใหญ่ก็นำไปพัฒนาด้านอื่นๆ แต่ไม่ได้ชัดเจนว่าจะไปบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤตภัยแล้งมากนักหากเป็นไปได้รัฐน่าจะจัดสรรเม็ดเงินโดยตรงให้เกษตรกรในการทำบ่อน้ำขนาดเล็ก หรือขุดบ่อบาดาลที่ไม่กระทบต่อการทรุดตัวของแผ่นดินที่จะรองรับเพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้ในฤดูแล้ง ส่วนระยะยาวก็จะต้องมองหาแนวทางการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำให้เป็นรูปธรรม เพราะธรรมชาติของไทยนั้นจะมีทั้งน้ำมากและน้ำน้อยไม่อาจปฏิเสธการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและใหญ่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น