xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้แรงงานไทยหนี้ท่วมหัว ไร้เงินออม แถมกู้เงินนอกระบบสูงสุดในรอบ 8 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โพลชี้แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท น่าเป็นห่วง เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีหนี้สินและไม่มีเงินออม แถมกู้หนี้นอกระบบพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี เรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 356 บาท แต่นายจ้างสวนขึ้นไม่ได้ หวั่นซ้ำเติมธุรกิจให้แย่ลงอีก ส่วนวันแรงงานปีนี้ คาดเงินสะพัด 2 พันล้าน ขยายตัวแค่ 2.73%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกวา 1.5 หมื่นบาท จากกลุ่มตัวอย่าง 1,212 ตัวอย่างว่า แรงงานส่วนใหญ่ 60.6% ไม่มีเงินเก็บออม มีเพียง 39.4% เท่านั้นที่มีการออม โดยส่วนใหญ่จะออมอยู่ที่ 5.9% ของรายได้ หรือเฉลี่ย 730 บาทต่อเดือน ส่งผลให้สถานภาพของแรงงานไทยส่วนใหญ่ 95.9% มีภาระหนี้สิน โดยภาระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.19 แสนบาทต่อครัวเรือน และในจำนวนนี้เป็นการกู้ยืมหนี้นอกระบบถึง 60.62% สูงสุดในรอบ 8 ปี

“สถานภาพแรงงานไทยแย่สุดในรอบ 8 ปี เพราะส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้เงินนอกระบบ ส่งผลให้การกู้หนี้นอกระบบมีสัดส่วนการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นเกินครึ่งของการกู้หนี้ในระบบ ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะจะสะท้อนกลับมายังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ว่าภาระหนี้ของแรงงานไทยจะรวมกันแล้วมีมูลค่ายังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้า การลงทุนของภาคธุรกิจ แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้กลุ่มแรงงานติดอยู่ในวังวนของการกู้หนี้นอกระบบได้” นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน ส่วนใหญ่ 36.4% กู้เพื่อใช้จ่ายประจำวัน รองลงมา 16.7% กู้เพื่อที่อยู่อาศัย 16.1% กู้เพื่อใช้คืนเงินกู้ และ 15.2% กู้เพื่อซื้อยานพาหนะ และยังพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แรงงานกลุ่มนี้ 83.5% เคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระ เนื่องจากเงินไม่พอจ่าย หมุนเงินไม่ทัน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 95.7% เห็นว่าควรให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยมาอยู่ที่ 356.76 บาท เพราะจะต้องปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและตามกลไกตลาดที่แท้จริง เช่น ปรับขึ้นให้ทันกับค่าสาธารณูปโภค ราคาอาหาร ค่าเดินทาง อัตราดอกเบี้ย และค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสตกงานสูง

ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ 2,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.73% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวในสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการเป็นวันหยุด โดยจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานเฉลี่ยคนละ 1,208.31 บาท ในการไปท่องเที่ยว เช่น สวนน้ำและสวนสนุก การสังสรรค์ การกินข้าวนอกบ้านและการทำบุญ เป็นต้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้มีการสอบถามผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ 600 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 71.4% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มราคาสินค้าขึ้นด้วย และลดจำนวนแรงงานลง แต่หันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รวมไปถึงการหันมาใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น

“ผู้ประกอบการเห็นว่าหากจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะแยกปรับตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ ตามทักษะฝีมือแรงงาน และในภาวะปัจจุบันควรจะปรับไม่เกิน 310 บาทต่อวัน และรัฐบาลจะต้องมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล จัดฝึกอบรมแรงงาน โดยมองว่าไตรมาส 2 ปีนี้จะผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น