“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐถึงเวลาปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือยัง เผย “การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ” ไม่ใช่การ “ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่” แต่เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเดิม เพื่อให้แรงงานมีอำนาจซื้อเท่าเดิม ด้าน “กรมบัญชีกลาง” เผยมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการก่อสร้างงานรัฐชั้นดีไม่ทิ้งงาน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
วันนี้ (8 ก.ย.) มีรายงานว่า ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการด้านแรงงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความเรื่อง “ถึงเวลาปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือยัง” ใจความว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (สำหรับแรงงานแรกเข้า) เมื่อเดือนเมษายน 2555 จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล 5 จังหวัด และจังหวัดภูเก็ตเป็น 300 บาท และขึ้นจังหวัดที่เหลือเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทำให้ทุกจังหวัดมีค่าจ้างเท่ากันต่อเนื่องมาอีก 2 ปี คือ ปี 2557-2558 โดยไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบการมีการปรับตัวกับค่าจ้าง ซึ่งผลปรากฏว่า ในภาพรวมยังมีแรงงานทั่วประเทศไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 2.11 ล้านคน หรือ 14.8% โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีคนทำงานไม่เกิน 50 คน (1-9 คน 33.6%, 10-49 คน 12%) แสดงให้เห็นว่าสถานประกอบการขนาดเล็กยังไม่สามารถปรับตัวจ่ายค่าจ้างเต็ม 300 บาทได้เป็นจำนวนมาก
ถ้าพิจารณาเป็นรายภาคจะเห็นว่า ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานประกอบการขนาดเล็ก 1-50 คน ยังปรับตัวได้ไม่ค่อยดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากระจายอยู่ทุกภาคถ้าพิจารณาลึกลงไปถึงจังหวัดที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ดีในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 10 ลำดับแรก ได้แก่
1) นราธิวาส (67%) 2) แม่ฮ่องสอน (58%) 3) ปัตตานี (55%) 4) ยะลา (55%) 5) ตรัง (52%) 6) ตาก (48%) 7) สตูล (48%) 8) กำแพงเพชร (47%) 9) แพร่ (46%) และ 10) ระนอง (4.3%) เป็นต้น
จริงอยู่แม้ว่าจะมีความพยายามจากตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานนอกระบบเรียกร้องตั้งแต่ต้นปลายปี 2558 เพื่อขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน แต่คณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติก็ยังขอเวลาตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พบว่าจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเห็นด้วยที่จะให้ขึ้นค่าจ้างมีมากขึ้นเป็นหลัก 10 จังหวัด (ไม่ทราบจำนวนชัดเจน)
ถ้าพิจารณาถึงเหตุผลที่สมควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คงเป็นเหตุผลด้านค่าครองชีพ ถ้าพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพจะขึ้นทุกปี แต่จะขึ้นไม่เท่ากัน ขอเน้นว่าไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด เช่น ทั่วประเทศ CPI เพิ่ม 6% นนทบุรีเพิ่ม 9% กระบี่ 4% เป็นต้นซึ่งผลก็คือจะทำให้ค่าเงิน 300 บาทที่เคยได้รับ เมื่อถ่วงน้ำหนักด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้อำนาจซื้อของแรงงานลดลงทุกปี
แต่ก็มีปัจจัยที่ไม่สนับสนุนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายปัจจัย เช่น ดัชนีความสามารถในการจ่ายของนายจ้างยังไม่ดี โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออก ทำท่าว่าจะติดลบหรือเป็นบวกเล็กน้อยมาหลายปีรวมทั้งปีนี้ ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวช้า และควันหลงจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศก็ยังไม่หมดไป เป็นต้น
ดังนั้น ข้อเสนอส่วนตัวของผู้เขียน คือ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจการส่งออกจะยังไม่ดี ถ้าจะรอให้พร้อมแรงงานที่ต้องพึ่งการขึ้นค่าแรงโดยอาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฐานในการขึ้นค่าแรงอาจจะจนลงไปอีก จึงเสนอว่าขอให้รัฐบาล (คณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ) พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยอัตโนมัติตามสภาวะของค่าเฉลี่ยดัชนีค่าครองชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้กับแรงงานทุกจังหวัดโดยอัตโนมัติ (ของขวัญปีใหม่) เนื่องจาก CPI แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับจะไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แต่เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ขึ้นไปแล้วเพื่อให้แรงงานมีอำนาจซื้อเท่าเดิมเท่านั้นซึ่งไม่ต้องพึ่งคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติมากนักเพียงแต่ช่วยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตาม CPI ก็น่าจะพอ ส่วนจะขึ้นค่าจ้างเพิ่มเติมจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับค่าครองชีพแล้ว (การขึ้นค่าจ้างประจำปี) เป็นเรื่องของผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่จะพิจารณากันต่อไปเองโดยคณะกรรมการค่าจ้างฯคงไม่ต้องไปยุ่งด้วยและจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนายจ้างก็ควรขึ้นค่าจ้างตามความสามารถหรือสมรรถนะของแรงงานมากกว่าเป็น competency-base pay ก็จะทำให้ทั้งแรงงานและนายจ้างมีความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเติมให้ครอบคลุมผลกระทบของผู้ประกอบการก่อสร้างให้สามารถทำงานให้กับภาครัฐแล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็ว
โดยเห็นชอบให้ความช่วยเหลือ 4 ประเด็น คือ 1. ผู้รับจ้างที่ได้รับความช่วยเหลือฯ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 มาก่อนแล้ว และต้องทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง จึงจะของดหรือลดค่าปรับได้ จำนวน 150 วัน 2. ส่วนราชการได้ตัวผู้รับจ้างก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2556 แต่ลงนามได้หลังจากวันที่ 22 เม.ย. 2556 จะได้รับความช่วยเหลือในการงดหรือลดค่าปรับ รวมจำนวน 300 วัน แต่ต้องทำงานเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว 3. สัญญาจ้างที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2556 ผู้รับจ้างต้องทำงานเสร็จ จึงจะได้งดหรือลดค่าปรับ จำนวน 150 วัน และ 4. ผู้รับจ้างที่ถูกทิ้งงานไปแล้ว ให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งทิ้งงาน
ทั้งนี้ หากผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จเกินจากระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ยังคงต้องเสียค่าปรับตามจำนวนวันที่เกินไปอยู่เช่นเดิม
ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีสัญญาจ้างมีผลผูกพันอยู่ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2556 ถึงวันที่ 22 เม.ย.56 ให้ขยายระยะเวลาหรืองดลดค่าปรับออกไปจำนวน 150 วัน ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 และครั้งที่ 2 ให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 อีก 150 วัน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่ขยายเพิ่มให้ จึงจะได้ลดหรืองดค่าปรับ แต่หากทำงานเสร็จสิ้นเกิน 150 วัน จะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557
“การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการผลักดันของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย นอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็วแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการก่อสร้างที่เป็น SME สามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ด้วย” นายมนัสกล่าว