ร.ฟ.ท.ถกขยายสัญญาก่อสร้างรถไฟสายสีแดง เคาะต่อสัญญา 2 ให้ “ITD” 12 เดือน ส่วนสัญญา 1 (สถานีกลางบางซื่อ) กิจการร่วมค้าเอสยูขอขยายเวลาถึง 30 เดือน เหตุเจอปัญหายาว ต้องพิจารณาอีกรอบ ขณะที่ผู้รับเหมาส่อได้ค่างานเพิ่มชดเชยต้นทุน ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาก่อสร้าง
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 1 และ 2 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาในการขยายระยะเวลาก่อสร้างหลังจากมีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและการปรับแบบสถานีกลางบางซื่อทำให้กระทบต่อสัญญาเดิม โดยเบื้องต้นจะต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการพิจารณาค่างานเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดที่สัญญาเขียนไว้ให้ชัดเจน จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ให้ได้ข้อยุติภายในสิ้นเดือน ส.ค. จากนั้นจะรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้นผู้รับจ้างจะได้สิทธิ์ในการต่อสัญญาก่อสร้างออกไปอีก 5 เดือนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเหลือกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต) มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับจ้าง มูลค่าสัญญา 21,235,400,000 บาท เริ่มสัญญาวันที่ 4 มี.ค. 2556-10 ก.พ. 2560 (ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน) เบื้องต้นจะขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 12 เดือน คือ 5 เดือน (กรณีค่าแรง) และ 7 เดือน จากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ถึงเดือน ก.พ. 2561
ส่วนสัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มีกิจการร่วมค้าเอสยู ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง มูลค่าสัญญา 29,826,973,512 บาท เริ่มสัญญาวันที่ 4 มี.ค. 2556-10 ก.พ. 2560 (ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน) ผู้รับจ้างขอขยายเวลาก่อสร้าง 30 เดือน เพราะติดรื้อย้ายท่อขนส่งน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ซึ่งยังพิจารณาไม่ยุติ
นายธวัชชัย สุทธิประภา กรรมการรองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า บริษัทฯ รับงานสัญญา 2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดยเสนอขอขยายเวลาไป 14 เดือน ซึ่งล่าสุดได้ข้อตกลงกันที่ 12 เดือน โดยเป็นสิทธิ์ขยายเวลาก่อสร้างเรื่องค่าแรง 300 บาทตามมติ ครม. จำนวน 5 เดือน และผลกระทบการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจำนวน 7 เดือน ซึ่งต้องยอมรับว่าการขยายเวลาก่อสร้างออกไป ทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของต้นทุนคงที่ต่างๆ เช่น ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ให้บริษัทฯ ทำรายละเอียดเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป
“โครงการก่อสร้างจะมีต้นทุนคงที่ ซึ่งจะประเมินตามเนื้องานและระยะเวลาก่อสร้าง โดยเฉลี่ยประมาณ 10% ของมูลค่าสัญญา เมื่อมีการขยายเวลาก่อสร้างต้นทุนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะต้องนำรายละเอียดมาพิจารณาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าแม้จะมีการขยายเวลาก่อสร้างงานโยธารถไฟสายสีแดงออกไป แต่จะไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการ เนื่องจากการเปิดเดินรถได้เมื่อใดจะต้องขึ้นกับสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้า) เป็นหลัก” นายธวัชชัยกล่าว