xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น 2 เดือนติด หลังคนไทยมั่นใจการเมืองมีเสถียรภาพ เชื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังประชาชนมั่นใจการเมืองมีเสถียรภาพ หลังลงประชามติ และคาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ยังมีจุดน่าห่วงคนกลัวตกงานจึงยังระวังการใช้จ่าย แนะรัฐเร่งอัดฉีดหากต้องการให้เศรษฐกิจโตกว่าที่คาด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 2559 จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,247 คน ว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 62.2 เพิ่มจาก 61.4 ในเดือน ก.ค. 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานเท่ากับ 67.6 เพิ่มจาก 67.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 89.7 เพิ่มจาก 88.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 73.2 เพิ่มจาก 72.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 52.3 ลดลงจาก 52.4 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตที่เท่ากับ 81.6 เพิ่มจาก 79.5

ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่มีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้ประชาชน นักธุรกิจต่างมั่นใจว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพมั่นคงดีขึ้นทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจเดินได้หน้าเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองที่สูงถึง 99 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 19 เดือน ตั้งแต่ ก.พ. 2558 และค่าดัชนีในอนาคตก็อยู่ในระดับ 101.1 สูงสุดในรอบ 18 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่เกินระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งได้เริ่มคลี่คลายทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อภาคการเกษตรและภาคครัวเรือนต่างจังหวัดดีขึ้น และประชาชนยังคาดว่ารัฐบาลจะเร่งใช้จ่ายเพื่อการลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้ผลดีจากการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ 3.3% จากกรอบ 3.0-3.5% การคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%

ส่วนปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องการส่งออกที่ขยายตัวติดลบ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัญหาระเบิดภาคใต้ ราคาพืชเกษตรแม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ และยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้มีจุดที่น่ากังวลก็คือ การเคลื่อนตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงจาก 52.4 มาอยู่ที่ 52.3 แม้ว่าจะไม่มาก แต่สะท้อนมาจากการที่ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการจ้างงาน เนื่องจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวโดดเด่น ทำให้มีการเปิดตำแหน่งงานใหม่น้อย โอทีทำได้ไม่เต็มที่ และห่วงว่าจะเกิดการเลิกจ้างงานขึ้น แม้ว่าการสำรวจผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้าง แต่ก็มีแนวโน้มที่บัณฑิตจบใหม่จะหางานได้ช้าลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยืนยันว่าอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวจึงผลกระทบทางจิตวิทยา คนไม่กล้าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ขณะที่ปัจจัยตัวอื่นๆ ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3.0-3.3% หากรัฐบาลเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานโดยเฉพาะในต่างจังหวัด รวมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งรัดผลักดันการส่งออก และดึงดูดการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจโตในกรอบ 3.0-3.6% ได้

สำหรับค่าเงินบาท มองว่าควรจะอยู่ในระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะช่วยให้มีแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่แข่งได้ โดยเฉพาะกับเวียดนาม และยังเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย.นี้ แต่จะเริ่มปรับขึ้นหลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.5-35.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น