ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยผลกระทบระเบิด 7 จังหวัดใต้ นักท่องเที่ยวหายไป 1.2 แสนคน เสียหาย 6 พันล้านบาท จีดีพีลดลง 0.05-0.07% ระบุผู้ประกอบการขอให้รัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่น และจับคนร้ายให้ได้โดยเร็ว ส่วนดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมองเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว แต่ยังห่วงบาทแข็งกระทบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ว่า ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจากภาคใต้ 124,931 คน หรือ 1.1% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่คาดไว้ 33.2 ล้านคน ทำให้วงเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 6,050 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) 0.05-0.07% หากหลังจากนี้ไม่เกิดเหตุระเบิดซ้ำอีก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ และอื่นๆ ส่วนใหญ่เห็นว่า เหตุระเบิดไม่กระทบต่อการจับจ่ายของคนในพื้นที่ และกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยอยากให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น รวมถึงเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมองว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติมากที่สุด แต่จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การจับจ่ายของคนในพื้นที่ และมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น”
นายวชิร คูณทวีภพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในไตรมาส 3 อยู่ที่ 101.9 และไตรมาส 4 อยู่ที่ 98.3 โดยเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลับสู่ภาวะปกติ หากไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีก แต่โดยภาพรวมทั้งปียังต่ำกว่า 100 จากดัชนีไตรมาส 1-2 ยังอยู่ระดับต่ำ แสดงว่ายังไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ แต่ก็มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า หลังจากที่มีการมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าการที่เงินบาทแข็งค่าเร็วส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก และเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะต่อการทำธุรกิจควรอยู่ที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากแข็งค่ามากกว่านี้จะทำธุรกิจได้ยากขึ้น และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยต้องเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับคู่แข่งเพื่อสนับสนุนการลงทุนไปต่างประเทศ สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน และช่วยลดต้นทุนในการส่งออก