โพลชี้นักลงทุนมั่นใจเศรษฐกิจไทยหลังประชามติผ่านฉลุย เชื่อฟื้นตัวแน่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ปรับเป้าใหม่เป็น 3.3% จากเดิม 3% เชื่อไตรมาส 3 และ 4 แรงจากรัฐอัดฉีดจากเม็ดเงินลงทุน และเอกชนกล้าลงทุนช่วยดันเศรษฐกิจโต
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการสำรวจผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจหลังการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำรวจเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 384 รายทั่วประเทศ ว่า นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 70% เท่ากัน มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมั่นใจว่าแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในอนาคตจะดีขึ้น
โดยกลุ่มตัวอย่าง 46.1% มองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันจะดีขึ้น 17.1% ตอบว่าแย่ลง ขณะที่ 25% ตอบว่าเหมือนเดิม สำหรับเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า 65.8% ตอบว่าดีขึ้น ส่วนที่ตอบว่าแย่ลงลดเหลือแค่ 2.6% ขณะที่คนที่ตอบว่าเหมือนเดิมมี 18.4% ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้า มี 68.4% ที่ตอบว่าดีขึ้น ส่วนที่ตอบว่าแย่ลงมีเท่าเดิม คือ 2.6% และ 15.8% ตอบว่าเหมือนเดิม
เมื่อถามถึงทัศนคติต่อการเมืองของประเทศหลังการลงประชามติ 42.1% เห็นว่าการเมืองในปัจจุบันดีขึ้น 9.2% ตอบว่าแย่ลง และ 34.2% ตอบว่าเหมือนเดิม เมื่อถามถึงในอีก 6 เดือนข้างหน้า 63.2% ตอบว่าดีขึ้น 17.1% ตอบว่าเหมือนเดิม และมีเพียง 3.9% ตอบว่าแย่ลง ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้า 64.5% ตอบว่าดีขึ้น และมี 3.9% เช่นเดิมที่ตอบว่าแย่ลง และ 15.8% ตอบว่าเหมือนเดิม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากการลงประชามติทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศ และคงไม่มีคำถามอีกว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเป็นที่รับรู้กันแล้วว่าไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเดินตามโรดแมปที่วางไว้ตั้งแต่ต้น และปัจจัยด้านการเมืองจากนี้ไปจะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเหมือนกับที่ผ่านมาอีก
“ในมุมมองของศูนย์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าจะยังเป็นการฟื้นตัวที่ยังช้าอยู่ โดยได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้อย่างเป็นทางการว่าจะเติบโตที่ 3.3% จากเป้าหมายเดิมที่ 3% มีกรอบการขยายตัวที่ 3.0-3.6% การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 2.1% จากเดิมจะติดลบ 1.6-2.6% และเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.4%” นายธนวรรธน์กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 น่าจะโตใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ทำให้ครึ่งปีแรกเติบโต 3.2% และผลจากการสำรวจจากประชาชนและภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นและมีสัญญาณที่เป็นบวกเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และหลังการลงประชามติก็มีความมั่นใจมากขึ้น การส่งออกติดลบน้อยลง เงินเฟ้อเริ่มกลับมาเป็นบวก และช่วงไตรมาส 3 และ 4 มีปัจจัยที่สำคัญ คือ การเร่งลงทุนของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท และจะมีผลให้ภาคเอกชนเร่งลงทุนตามไปด้วย
นายธนวรรธน์กล่าวว่า หลังมีการรับร่างรัฐธรรมนูญจะมีการออกกฎหมายลูกตามมา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยคาดว่าเฉพาะกิจกรรมการแนะนำตัวนักการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งจะมีผลให้มีเงินสะพัดหลายพันล้านบาท และเมื่อมีการเลือกตั้งจริงจะมีเงินสะพัดประมาณ 5 หมื่นล้านบาท มีผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.5% ทำให้มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพีในปี 2560 อยู่ที่ระดับ 3.5-4%