xs
xsm
sm
md
lg

รัฐดึง 7 แปลงเอราวัณ-บงกช รวบเป็นแปลงเดียวหรือซอยย่อย เปิดประมูล มี.ค.60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ดึงแปลงสำรวจแหล่งเอราวัณ-บงกช ของเชฟรอน และ ปตท.สผ.ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 มาศึกษาแนวทางการเปิดประมูล มี.ค. 60 โดยอาจแบ่งซอยแปลงหรือยุบให้เป็นแปลงเดียว


นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การเปิดประมูลแหล่งก๊าซปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่งที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ยังคงเป็นไปตามแผนเดิมที่คาดว่าจะเปิดให้เอกชนผู้สนใจยื่นได้เดือนมีนาคม 2560 และคาดว่าหลักเกณฑ์การประมูลจะกำหนดได้ภายใน ธ.ค.นี้ โดยเกณฑ์การประมูล (TOR) หนึ่งที่กำลังศึกษาคือนำแปลงสำรวจและผลิตของ 2 กลุ่มบริษัท ได้แก่ เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ จำนวน 4 แปลง (B10-13) กับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช 3 แปลง (B15-B17) มาประมูล ที่อาจจะแบ่งซอยแปลง หรือรวมให้เป็นแปลงเดียวเพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศ

“2 แหล่งนี้จะมีแปลงการผลิตทั้งสิ้นรวม 7 แปลง เราก็กำลังศึกษาว่าจะแบ่งซอยได้ไหม เช่น เอวราวัณจาก 4 แปลง แยกเป็น 2 แปลง หรือให้แต่ละแหล่งเป็น 1 แปลงสำรวจไปเลยแล้วเอามาให้เอกชนยื่นประมูล โดยหลักการจะยึดที่ปริมาณก๊าซฯ สำรองที่เหลือกับเงินลงทุนว่าอย่างใดจะเหมาะสมหรือก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 คงจะต้องหลังจากประมูลนี้เสร็จคาดว่าคงจะเป็นสิ้นปี 60” นายวีระศักดิ์กล่าว

นอกจากแปลงสำรวจที่ต้องกำหนดในร่างเงื่อนไขการเปิดประมูลแล้วที่สำคัญ คือ ค่ารื้อถอนซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องเจรจาให้จบเป็นอันดับแรกก่อนโดยที่ปรึกษาได้ประเมินค่ารื้อถอนแท่น 2 รายกว่า 300 แท่นในอ่าวไทยจะต้องใช้เงินถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรายที่ได้รับสัมปทานเมื่อสิ้นสุดจะต้องรื้อถอนหาก 2 รายประมูลได้คงไม่เป็นปัญหา แต่หากรายใหม่ได้ กรมฯ ก็จะต้องเจรจาเพื่อที่จะนำแท่นผลิตที่ยังมีอายุใช้งานได้เพื่อให้รายใหม่เข้ามาทำต่อซึ่งจะต้องจ่ายเงินในส่วนที่เหลือก็ต้องเจรจาเพื่อที่จะทำให้การผลิตก๊าซฯ แหล่งนี้ต่อเนื่องให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน เงื่อนไขที่ต้องกำหนดอีก คือ แปลงที่จะเปิดประมูลจะใช้ระบบใดซึ่งต้องรอให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมผ่านก่อน ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขณะนี้ได้ยืดเวลาพิจารณาไปอีก 1 เดือน แต่ก็ไม่ได้กระทบเพราะกรมฯ ได้เผื่อเวลาไว้แล้วถึง 2 เดือน โดยภายใต้กฎหมายดังกล่าวจะประกอบด้วย 3 ระบบ คือ สัมปทาน, แบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (SC)

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ตามสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุด 2565-2566 ของเชฟรอน และบงกชทั้ง 2 รายมีสิทธิเจรจา บมจ.ปตท.ในการลดปริมาณการผลิตก๊าซฯ ลงได้ในช่วง 5 ปีสุดท้ายของสัญญา (ปี 61-65) ดังนั้น กรมฯ จึงขอให้ ปตท.ชะลอเจรจาไว้ก่อนเพื่อที่จะประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯ ใหม่ก่อนจะกลับไปเจรจาอีกครั้ง และต้องปรับแผนบริหารจัดการก๊าซใหม่ (Gas Plan 2015) โดยต้องคำนึงถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015)
กำลังโหลดความคิดเห็น