xs
xsm
sm
md
lg

จับตา NPL ภาคธุรกิจพุ่งหลังแรงซื้อคนไทยยังไม่ฟื้น-ส่งออกวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์กรนายจ้างเผยแนวโน้ม NPL ภาคธุรกิจปีนี้เริ่มรุนแรงขึ้น ลูกค้าชักดาบเพิ่มเหตุยอดขายทั้งในและต่างประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่แบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและย่อม (SMEs) เริ่มมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้าภาพรวมทั้งที่จัดซื้อวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปไม่จ่ายเงินเมื่อถึงสัญญา (ดีล) ที่ทำไว้เพราะประสบภาวะขาดสภาพคล่องจากยอดขายที่ลดต่ำลงทั้งยอดขายในประเทศและยอดขายไปต่างประเทศ

“เรามักจะพูดถึงแต่ NPL ในภาคธนาคาร แต่วันนี้ปัญหา NPL ในภาคธุรกิจมีความรุนแรงมากขึ้นเพราะลูกค้าเริ่มชักดาบ หรือไม่ก็ต้องยืดหนี้ออกไปเพราะสภาพคล่องไม่มี สถาบันการเงินเองก็มีความเข้มงวดอย่างมาก บางบริษัทถึงต้องตั้งแผนกฟ้องหนี้” นายธนิตกล่าว

ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 65% เนื่องจากธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะยังคงติดลบ 1-2% ซึ่งจะถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะเดียวกันตลาดในประเทศเองยังได้รับผลกระทบจากภาวะแรงซื้อของไทยที่ยังคงซึมๆ ไม่ขยับเพิ่มมากอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในอัตราสูง 11 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรส่งออกตกต่ำทำให้รายได้เกษตรกรลดลงในช่วงครึ่งปีแรกทำให้ภาพรวมแรงซื้อของคนไทยยังคงไม่ขยับสูงขึ้นนัก ประกอบกับชาวบ้านส่วนหนึ่งได้มีการพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูง 20-30% แม้รัฐจะมีนโยบายกระตุ้นแรงซื้อและช่วยเหลือแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเมื่อได้ไปก็นำไปใช้หนี้เงินเหล่านี้ก็ยังคงหมุนเวียนในระบบหนี้อยู่ยังไม่สามารถเข้ามาเพิ่มการบริโภคได้ ซึ่งการที่รัฐบาลจะมีมาตรการคุมเข้มเงินนอกระบบก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น