xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์การนายจ้างชี้ธุรกิจครึ่งปีหลังรัดเข็มขัดแน่นรับสัญญาณ ศก.ผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การนายจ้างชี้ธุรกิจครึ่งปีหลังรัดเข็มขัดแน่นหลังสัญญาณเศรษฐกิจโลกไม่สู้ดีจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และยังซ้ำเติมผลโหวตประชามติประชาชนหนุนออกจากสมาชิกอียูเป็นเสียงส่วนใหญ่ซึ่งต้องรอลุ้นทางกฎหมายต่อ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศแรงซื้อยังคงไม่กระเตื้องจากภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ด้าน ก.แรงงานสั่งเกาะติดหลังไตรมาสแรกการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 30.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลังธุรกิจยังคงต้องรัดเข็มขัดเพื่อลดต้นทุนต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งจะสะท้อนให้การจ้างงานยังคงทรงตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะทั้งจากภาวะการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากจีน และผลกระทบต่อเนื่องกับสหภาพยุโรป (อียู) หลังอังกฤษทำประชามติผลโหวตประชาชนสนับสนุนให้ออกจากการเป็นสมาชิกอียู

“หลังจากอังกฤษผลโหวตออกมาแต่ทางปฏิบัติยังไม่มีผลทางกฎหมายแต่ภาพรวมความเชื่อมั่นก็อาจจะกระทบในระยะสั้นและความไม่แน่นอนก็ยังต้องรอกันอีก ก็ต้องดูกันต่อไป แล้วสมาชิกอียูที่เหลือจะยังคงมีความแน่นหนาที่จะอยู่ร่วมกันต่ออีกหรือไม่ ขณะเดียวกัน จีน สหรัฐอเมริกา อาเซียนก็ค้าขายในอียู ทุกอย่างจะพัวพันและเศรษฐกิจโลกก็จะฟื้นตัวได้ช้าขึ้น ที่สุดจะกระทบส่งออก” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยพบว่ายังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงทำให้แนวโน้มกำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่านโยบายรัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากด้านต่างๆ แต่พบว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นการเติมเม็ดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ทำให้ภาระหนี้ของประชาชนยังคงอยู่ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของไทยปีนี้แม้จะมีแนวโน้มเติบโตระดับ 3-3.5% ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดการเติบโตของ GDP มาจากเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ แต่เม็ดเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการกระจุกตัวอยู่กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เพียง 10 รายเท่านั้นจึงทำให้เงินเหล่านี้ไม่ได้กระจายไปยังเศรษฐกิจฐานราก

นายธนิตกล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากจะเป็นสิ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อไปมีความยากลำบากมากขึ้น การที่รัฐบาลกำหนดผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นการใช้นวัตกรรมขั้นสูงผลิตสินค้าลดการใช้แรงงานจำนวนมากลงนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องก้าวไปในทิศทางนี้แต่รัฐจะต้องมองหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะปัจจุบันไทยมีแรงงานในระบบ 37.68 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตรมากสุดถึง 50% อุตสาหกรรมและบริการกว่า 10 ล้านคน และอยู่ในอุตสาหกรรมไอที อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จริงๆ แค่หลักแสนคน และพบว่าเกษตรยังอยู่อุตสาหกรรม 2.0 และอุตสาหกรรม 3.0 จึงควรจัดกลุ่มที่จะพัฒนาได้ในการส่งเสริมจะดีกว่า

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้แรงงานจังหวัดจับตาใกล้ชิดถึงภาวะการจ้างงาน และการดำเนินธุรกิจโรงงานทุกขนาดเพื่อนำมาประเมินทิศทางและแนวโน้มการจ้างงานในปี 2559 หลังจากที่ไตรมาสแรกปีนี้มีผู้ว่างงานสะสม 3.7 แสนคน ขณะที่การเลิกจ้างงานอยู่ที่ 2.51 หมื่นคนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.62% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้นถึง 30.85% ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานในระบบมีทั้งสิ้น 37 กว่าล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบ 1.58 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น