สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผย 6 เดือนไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกข้าว คาดทั้งปีทำได้ 9.5 ล้านตันยังรักษาแชมป์ได้ แต่ห่วงปีหน้ามีโอกาสเสียแชมป์ให้อินเดีย เหตุจะแข่งขันด้านราคากันดุเดือด แนะรัฐจ่ายเงินช่วยชาวนาโดยตรง เหตุผลผลิตเพิ่ม ข้าวเปลือกมีโอกาสราคาตก แนะระบายข้าวสต๊อกอย่าขายถูกเกินไป เกรงฉุดราคาข้าวในประเทศ
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง 6 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-มิ.ย.) สามารถส่งออกได้แล้ว 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.1% ยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกอยู่ ส่วนอันดับ 2 คือ อินเดีย ส่งออกข้าวได้ 4.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% เวียดนาม 2.66 ล้านตัน ลดลง 2.1% และปากีสถาน 2.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.5% โดยทั้งปี 2559 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน มากกว่าอินเดียที่จะส่งออกได้ 9 ล้านตัน
“ปีหน้ามีโอกาสที่ไทยจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดีย เพราะสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง เพราะทั้งไทย อินเดีย และเวียดนาม มีการเร่งปลูกข้าวเพิ่มขึ้น หลังฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้จะมีการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน อินเดียยังเหลือสต๊อกข้าวในประเทศ 20 ล้านตัน และประเทศผู้ซื้อยังชะลอการนำเข้าข้าว รวมทั้งผลจากเงินบาทแข็งทำให้ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันได้ยาก”
ทั้งนี้ ในส่วนของไทยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปีจะออกมารวม 16-17 ล้านตันข้าวเปลือก เฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียวจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10-20% โดยคาดว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าจะต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาท
นายเจริญกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือเกษตรกรกรณีที่ราคาข้าวปรับตัวลดลง คือ การหามาตรการเข้าไปดูแล แต่สมาคมฯ เห็นว่าไม่ควรที่จะแทรกแซงด้านราคา เพราะไม่เกิดประโยชน์ แต่ต้องเข้าไปช่วยเหลือทางตรง เช่น การจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ในกลุ่มของเกษตรกรที่ทำนาต่ำกว่า 20 ไร่ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ต่อไป
“มาตรการที่รัฐบาลทำ คือรับจำนำข้าวยุ้งฉางและชดเชยดอกเบี้ยโรงสี 3% เพื่อเก็บสต๊อกข้าว ยังไม่เพียงพอและไม่เกิดประโยชน์ที่จะดูแลราคาข้าวให้แก่ชาวนา และการจะให้ผู้ส่งออกช่วยรับซื้อข้าวมาเก็บสต๊อกเหมือนปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็ไม่มีเงินแล้ว เนื่องจากปีก่อนมีการรับซื้อข้าวหอมมะลิในตลาด 1.5 แสนตัน ราคาตันละ 2.6 หมื่นบาท ปัจจุบันข้าวหอมมะลิราคา 2.2-2.3 หมื่นบาท ขาดทุนตันละ 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่ขาดทุนจากราคาส่วนต่าง 450 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ยและค่าฝากเก็บ” นายเจริญกล่าว
นายเจริญกล่าวว่า การระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่เหลืออยู่อีก 9 ล้านตันนั้นเห็นว่ายังสามารถระบายได้ออกมาเรื่อยๆ แต่ต้องดูจังหวะเวลาและปริมาณที่จะระบาย อย่าให้มากเกินไป และราคาขายข้าวเก่าไม่ควรห่างจากราคาข้าวใหม่เกิน 10-20% เช่น ข้าวเจ้า 5% (ใหม่) ราคาส่งออก 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน ข้าวเก่าราคา 340-350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็ไม่ควรนำข้าวสต๊อกรัฐบาลมาขายออกไปในราคา 6-7 บาท/กก. ซึ่งต่ำเกินไป
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในไตรมาส 3 คาดว่าจะส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 6.5 แสนตัน และไตรมาส 4 เฉลี่ยเดือนละ 8 แสนตัน ทำให้การส่งออกข้าวทั้งปี 2559 น่าจะทำได้ที่ 9.4-9.5 ล้านตัน แต่ก็มีปัจจัยที่น่าห่วงคือ ค่าเงินบาทแข็งค่า กำลังซื้อของต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งสภาพอากาศกลับเข้าสู่ปกติ ทำให้ผลผลิตข้าวของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก