xs
xsm
sm
md
lg

แพ้อินเดีย! ปี 58 ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว ส่วนปีนี้ตั้งเป้าแค่ 9 ล้านตัน เหตุแข่งราคาดุเดือด-แรงซื้อหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยปี 58 ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้อินเดีย หลังทำยอดได้เพียง 9.79 ล้านตัน ต่ำกว่าอินเดียที่ส่งออกได้ 10.23 ล้านตัน แถมเสียส่วนแบ่งตลาดแอฟริกาไปอีก หลังน้ำมันลด ทำกำลังซื้อหดตัว คาดปี 59 ส่งออกจะส่งออกได้แค่ 9 ล้านตัน เหตุต้องแข่งทั้งราคา และเศรษฐกิจชะลอตัว ฉุดแรงซื้อ เผยมติ นบข.ที่จะให้เครดิตผู้ซื้อข้าว ควรทำอย่างรอบคอบ หวั่นเป็นหนี้สูญ

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี 2558 มีปริมาณ 9.79 ล้านตัน ต่ำกว่าอินเดียที่ส่งออกได้ 10.23 ล้านตัน เพราะส่วนแบ่งข้าวไทยในตลาดแอฟริกาลดลงจาก 58% ในปี 2557 เหลือ 48% ในปี 2558 และยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลง ทำให้กำลังซื้อของประเทศในกลุ่มนี้ลดลง โดยเฉพาะไนจีเรียที่ปกตินำเข้าจากไทยปีละ 1.2 ล้านตัน ลดเหลือเพียง 7 แสนตัน แต่การส่งออกไปยังประเทศแถบเอเชียเพิ่มมากขึ้น เช่น จีน 9.58 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 8.21 แสนตัน และมาเลเซีย 4.43 แสนตัน เป็นต้น

ส่วนปี 2559 สมาคมฯ คาดว่าจะส่งออกได้ 9 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 4.9 ล้านตัน ลดลงจาก 5.2 ล้านตันในปี 2558 เพราะจะมีการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ข้าวหอมมะลิ 1.8 ล้านตัน ลดลงจาก 2 ล้านตัน เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง และยังต้องแข่งกับข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่ราคาถูกกว่า ข้าวนึ่ง 2.2 ล้านตัน ลดลงจาก 2.3 ล้านตัน เพราะตลาดแอฟริกามีปัญหา และต้องแข่งกับอินเดียที่มีต้นทุนราคาต่ำกว่า

สำหรับสถานการณ์ราคา คาดว่าข้าวขาวจะเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 365 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมมะลิ ตันละ 720 เหรียญสหรัฐ และข้าวนึ่งตันละ 350 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวเปลือกจะเฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่าราคาจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตของไทยลดลง 40-50% แต่ราคาจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการไม่เพิ่มเท่าที่ควร และไทยยังมีข้าวในสต๊อกอีก 13.5 ล้านตัน ที่เป็นตัวกดดันราคา แต่ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะระบายข้าวออกมาได้ โดยคาดว่าภายใน 2 ปี สต๊อกน่าจะลดลงและเข้าสู่ภาวปกติ

นายเจริญกล่าวว่า มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่เปิดช่องให้สามารถให้สินเชื่อแก่ประเทศผู้ซื้อข้าวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เห็นว่าเป็นแนวความคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติดำเนินการได้ยาก เนื่องจากเงื่อนไขต้องระบุให้ผู้ซื้อเปิดแอลซีไว้กับรัฐบาลไทย แต่ให้ช่วงเวลาที่นานขึ้นเท่านั้น ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผู้ซื้อไม่มีความสามารถชำระเงินและกลายเป็นหนี้สูญ ซึ่งจะกลายเป็นความเสียหายของประเทศ แต่ในสภาพการค้าปัจจุบันประเทศเป้าหมายโดยเฉพาะในแอฟริกา ไม่มีความสามารถในการเปิดแอลซี จึงเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะไม่สามารถปฎิบัติได้จริง

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แม้ปีที่ผ่านมาจีนจะซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น แต่ผู้ซื้อรายใหญ่จริงอยู่ในประเทศแถบแอฟริกา และขณะนี้มีปัญหาราคาน้ำมันลดลง ทำให้ความสามารถในการซื้อสินค้าของตลาดนี้ลดลง โดยเฉพาะข้าวนึ่ง อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาด 2.2 ล้านตัน โดยน่าจะส่งออกได้เพียง 1.6 ล้านตันเท่านั้น และหากจะมีการผลักดันการขายผ่านการให้เครดิตกับผู้ซื้อตามมติ นบข.ประเมินว่ามีความเสี่ยงเกินไป เพราะแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศก็ยังประสบปัญหาเดียวกันนี้ โดยเห็นว่าควรใช้วิธีข้าวแลกน้ำมันแทน แม้จะยากในการประเมินราคา แต่ก็มีความปลอดภัยมากกว่า

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะให้เครดิตกับประเทศในแอฟริกา หรือผู้ซื้อที่มีปัญหารายได้ลดลงจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขายข้าวให้ตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดรองรับข้าวนึ่งและข้าวเก่าของไทย แต่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สูญ เพราะเบื้องต้นมองว่าราคาน้ำมันจะลดต่ำลงไม่นาน
กำลังโหลดความคิดเห็น