xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เสนอตั้งกองทุนทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ดอกเบี้ย 6% ตั้งเป้าหาทุน 3-4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
กทพ.เผยจ้าง ธ.ไทยพาณิชย์ศึกษา จัดตั้งกองทุนฯ สร้างด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ระดมทุนในตลาดเอง ตั้งเป้าเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยนำรายได้ด่วน 1 และด่วนรามอินทราเข้าระดมทุน ขณะที่กองทุน “ไทยแลนด์อินฟราฟันด์” ของรัฐบาลทำแบบคู่ขนานไปด้วย ยันโครงการจำเป็นเพื่อบรรเทาจราจรบนสะพานพระราม 9 และกรณีต้องซ่อมใหญ่จะไม่กระทบการเดินทางของประชาชน พร้อมเร่งหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกเครื่องบัตร EASY PASS เป้าวิ่งผ่านด่านเร็วขึ้น

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.มีแผนระยะเร่งด่วนโครงการทางพิเศษ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก, โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก, โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

โดยความคืบหน้าล่าสุดของทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.923 กม. มูลค่าโครงการกว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้ว

สำหรับการลงทุนนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มี พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ เป็นประธาน ได้เห็นชอบที่ กทพ.จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กทพ. หรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ ขึ้นมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอง โดยได้ว่าจ้างธนาคารไทยพาณิชย์ศึกษาการระดมทุนมาก่อสร้างโครงการ ในขณะที่ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้นำโครงการทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ เข้าระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ซึ่งจะทำคู่ขนานกันไป เพราะขณะนี้ทาง TFF ยังไม่ชัดเจนมากนัก

โดยแนวคิดการจัดตั้งกองทุนของ กทพ.เพื่อระดมทุนมาก่อสร้างทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนองฯ นั้น ผลศึกษาเบื้องต้นต้องการระดมทุนประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาท โดยนำรายได้จากทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่วนขั้นที่ 1) ซึ่ง กทพ.มีส่วนแบ่งรายได้สัมปทานกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่สัดส่วน60% มาใส่ในกองทุน 40% และรายได้จากทางพิเศษ ฉลองรัฐ (ด่วนรามอินทรา-วงแหวนฯ) สัดส่วน 40% เข้ากองทุน และจากการศึกษาพบว่าควรทยอยการระดมทุน แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเสนออัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.5-6%

ทั้งนี้ยอมรับว่าข้อเสนอัตราดอกเบี้ยของกองทุน กทพ.อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 2% แต่อาจจะดูน้อยกว่าการระดมทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ที่เสนออัตราดอกเบี้ยที่ 6.5-7%

อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปเรื่องแหล่งเงินทุนได้แล้วจะทราบถึงรูปแบบการลงทุน หาก กทพ.จัดตั้งกองทุนเองไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ส่วนนโยบายรัฐบาลในการตั้งกองทุน TFF นั้น จะต้องรอความชัดเจนที่กระทรวงการคลังพิจารณาประกอบด้วย

โดยทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวน ฯ มีความพร้อม โดยแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว หากการลงทุนชัดเจนสามารถเริ่มประกวดราคาได้ในปี 2560 ซึ่งโครงการนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในระดับหนึ่ง เนื่องจากจะช่วยระบายการจราจรของสะพานพระราม 9 ในปัจจุบันแล้ว ในอนาคตสะพานพระราม 9 มีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันมีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี ซี่งการซ่อมบำรุงที่ผ่านมาทำได้ส่วนหนึ่ง การบูรณะใหญ่เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้ถึง 100 ปีนั้นยังไม่ได้ทำ ดังนั้นอาจมีความจำเป็นต้องปิดการใช้งาน ในขณะที่มีกาบูรณะซ่อมแซมใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องมีทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 16.9 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 3.1 หมื่นล้านบาทซึ่งปรับเพิ่มจากเดิมที่ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มในส่วนค่าเวนคืนที่ดินบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ช่วงใต้สะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี จากประมาณ 200 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีการปรับเพิ่มราคาขึ้นหลังจากที่มีแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่ง กทพ.ต้องปรับค่าชดเชยขึ้นโดยอิงราคาตลาดปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอาคารควบคุม 9 ชั้น ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมด่านดาวคะนอง 2 อีกด้วย

โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เริ่มก่อสร้างกลางปี 2560 คาดเปิดใช้บริการปี 2563 และจะมีรถใช้บริการกว่า 7.2 หมื่นคันต่อวัน

***รถใช้ทางด่วนเกือบเต็มพื้นที่ กทพ.เร่งพัฒนาบัตร EASY PASS วิ่งผ่านด่านเร็วขึ้น

นายณรงค์กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณรถใช้ทางด่วนเฉลี่ย 1.7-1.8 ล้านคันต่อวัน เปรียบเทียบกับปี 2558 ถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเนื่องจากพื้นที่บนทางด่วนที่มีเกือบเต็มความจุแล้ว โดยเฉพาะทางด่วนในเมือง ซึ่งอาจจะต่างจากทางด่วนฉลองรัฐ (ด่วนรามอินทรา) ซึ่งบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL เป็นผู้รับสัมปทาน ปริมาณจราจรมีการเติบโตจากปี 2558 ที่ 4 หมื่นคันต่อวัน เป็น 7-8 หมื่นคันต่อวันในปี 2559

ขณะที่ปริมาณผู้ใช้บัตราผ่านทางอัตโนมัติ (EASY PASS) มีจำนวน 6 แสนคันต่อวัน หรือประะมาณ 1 ใน 3 ของรถที่ใช้ทางด่วนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของ EASY PASS เพื่อให้รถไม่ต้องชะลอหรือหยุดที่หน้าด่าน กทพ.ได้ศึกษาเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไทย และทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกสูงสุด พร้อมกันนี้ได้หารือกับ กสทช.ในการพิจารณาระบบที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ของบัตร EASY PASS มีอายุใช้ประมาณ 7 ปี ปัจจุบันการใช้งานเข้าสู่ปีที่ 5 ดังนั้นเหลือเวลาอีกไม่มากในการที่จะหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเร่งปรับปรุงพัฒนาการใช้งาน
กำลังโหลดความคิดเห็น