“ปลัดพาณิชย์” ถกเคนยาขอสัมปทานทำประมงชายฝั่งทะเลให้กับภาคเอกชนไทย พร้อมขอให้นำเข้าข้าวเพิ่ม ส่วนโมซัมบิกหารือกรอบนำเข้าข้าว 3 แสนตัน และขอให้สนับสนุนนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร พลังงาน เหมืองแร่ ก่อสร้าง และท่องเที่ยว
น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนเคนยาและโมซัมบิกระหว่างวันที่ 10-16 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า ไทยและเคนยาได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้าและการลงทุน เพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเบื้องต้นไทยได้เจรจาผลักดันให้เคนยาพิจารณานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น และขอสัมปทานการทำประมงชายฝั่งทะเลของเคนยา ซึ่งภาคเอกชนไทยจากสมาคมประมงนอกน่านน้ำมีความสนใจจะนำเข้าอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็งจากเคนยา เช่น ลอบสเตอร์ กั้ง ปลา และปูทะเล เป็นต้น
ทั้งนี้ เคนยาต้องการให้ไทยนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ที่เคนยามีความอุดมสมบูรณ์ เช่น โซดาแอช อัญมณี สังกะสี เพชร ยิปซัม สินค้าประมง กาแฟ ชา และอะโวคาโด เป็นต้น และต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ข้าวโพด อ้อย อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเคนยา ภายใต้แผน Kenya Vision 2030 ให้ก้าวขึ้นไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อีกทั้งต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคจากไทย ซึ่งไทยยินดีให้ความร่วมมือตามความต้องการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 50 ปี ไทยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยที่เคนยาในปี 2560 เพื่อโปรโมตสินค้าไทย และยังได้เชิญให้เคนยามาร่วมงาน Thailand Tractors and Agricultural Machinery Show ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วันที่ 4-13 ธ.ค. 2559 เนื่องจากเคนยาต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรสูงมาก รวมทั้งเชิญชวนให้เคนยามาเข้าร่วมงานบางกอกเจมส์ในวันที่ 7-11 ก.ย. 2559 นี้ด้วย
น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับโมซัมบิก คณะได้เข้าเยี่ยมคารวะนายคาร์ลูส อากูสตินโย ดู โรซารีอู นายกรัฐมนตรีของโมซัมบิก เพื่อหารือเกี่ยวกับความต้องการซื้อข้าวจากไทย 3 แสนตัน และโอกาสในการขยายการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความสนใจ โดยเฉพาะสาขาการเกษตร ประมง พลังงาน เหมืองแร่ ก่อสร้าง การท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลโมซัมบิกต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-โมซัมบิก ครั้งที่ 1 ซึ่งได้มีการหารือในการขยายการค้า การลงทุน และการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยได้ขอให้โมซัมบิกเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากไทย ทั้งข้าว สินค้าเกษตรแปรรูปอาหาร เครื่องสำอาง ยารักษาโรคและอาหารเสริม ปุ๋ยและเครื่องจักรกลทางการเกษตร และให้การสนับสนุนนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนในโมซัมบิก เช่น เกษตร พลังงาน (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากหญ้าเนเปียร์) เหมืองแร่ (อัญมณี) ก่อสร้าง (ขนส่ง บ้านพักอาศัย) และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ได้มีการพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสำคัญของโมซัมบิก เช่น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติโมซัมบิก ผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมการลงทุน และผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในโมซัมบิก เพื่อทำความรู้จักและขยายความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของไทยในโมซัมบิก โดยเน้นการหารือประเด็นการทำธุรกรรมทางการเงิน เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการเข้าไปลงทุนในโมซัมบิก
น.ส.ชุติมากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการเยือน โดยจะจัดคณะผู้แทนการค้าภาคเอกชนเดินทางมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า The Maputo International Fair : FACIM 2016 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐโมซัมบิก ระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-4 ก.ย. 2559 โดยจะบูรณาการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาบูโต ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการเฉลิมฉลองการเปิดสถานทูตไทยในประเทศนี้ โดยจะเชิญภาคเอกชน 4 กลุ่มมาร่วมงาน ได้แก่ อาหาร พลังงาน สาธารณูปโภค และท่องเที่ยว
สำหรับทวีปแอฟริกาประกอบด้วย 54 ประเทศ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย มีพื้นที่รวมประมาณ 30.2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 6 ของพื้นที่โลก มีประชากรรวมกันมากกว่า 1,100 ล้านคน หรือร้อยละ 14.72 ของประชากรโลก อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่มีค่าต่างๆ เช่น ถ่านหิน เพชร ทองคำ อัญมณี ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปมีความมั่นคงทางการเมือง ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2556 แอฟริกาเป็นทวีปที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก ร้อยละ 5.6 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัว
ทั้งนี้ World Bank คาดการณ์ไว้ว่า GDP ของทวีปแอฟริกาในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ไทยจึงต้องเร่งผลักดันการเจาะตลาดแอฟริกา ซึ่งยังมีโอกาสอีกมาก ทั้งด้านเหนือ อิยิปต์ โมร็อกโก ด้านตะวันตก ไนจีเรีย กานา เบนิน โกตดิวัวร์ แคเมอรูน ด้านใต้ แอฟริกาใต้ แองโกลา บอตสวานา เป็นต้น