xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เร่งแผนพัฒนาพื้นที่ สร้างรายได้หนุนเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” สั่งคมนาคมทำรายละเอียดผลตอบแทนในการพัฒนาพื้นที่สถานีและการใช้ที่ดินโดยรอบที่เกี่ยวเนื่องให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อเปิดเชิญชวนเอกชนไทย-เทศร่วมลงทุนเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์จากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ให้เวลา 1 เดือนรายงานนายกฯ ด้าน “อาคม” ยอมรับติดปัญหา กม.เวนคืน บางเรื่องอาจต้องเสนอใช้ ม.44 ช่วย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเวนคืนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่าตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ช่วยดูแลเรื่องของการจัดรูปเรื่องของการหารายได้ให้กับโครงการต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟ รถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสำนักงานผังเมืองมาร่วมหารือ โดยให้ทำกรอบรวมถึงรายละเอียดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ของแต่ละโครงการเพื่อเป็นหลักเกณฑ์พัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขัน เพราะหลักเกณฑ์จะเป็นฐานในการให้เอกชนคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาได้ โดยให้เวลา 1 เดือนในการจัดทำรายละเอียดเพื่อเตรียมรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าในส่วนของผังเมืองจะมีความชัดเจนขึ้นว่าจุดไหนที่สามารถดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ ได้กำหนดขอบเขตเบื้องต้นเร่งด่วน ใน 4 โครงการ คือ โครงการความร่วมมือพัฒนาระบบขนส่งทางรางระหว่างไทยกับจีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง และกรุงเทพ-หัวหิน และโครงการภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือด้านระบบราง เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ให้ดูว่าในแต่ละเส้นทางการจัดระบบที่ดินและการก่อสร้างจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างไร

โดยให้แนวทางว่าในแต่ละเส้นทางมีกี่สถานี ควรอยู่จุดใด และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สถานีได้อย่างไร และพื้นที่ระหว่างสถานีมีจุดใดที่สามารถพัฒนาได้ และกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขัน เพราะเมื่อศึกษาแล้วจะรู้ถึงผลตอบแทนในการพัฒนาว่าแต่ละโครงการจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวนี้จะเป็นฐานในการให้เอกชนคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาได้ เช่น ความร่วมมือรถไฟไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพ-โคราช ไทยลงทุนเองทั้งหมด จะมีการหาผู้มาร่วมลงทุน

“แนวคิดการพัฒนารูปแบบนี้หากทำได้ ที่เกรงกันว่าลงทุนแล้วไม่คุ้มผลตอบแทนน้อยจะไม่เกิดขึ้น และจะมีกำไรแน่นอน รัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันกันโดยภาครัฐจะเป็นผู้กำกับและร่วมลงทุน ซึ่งในแต่ละเส้นทางจะเปิดให้เอกชนไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนแต่ช่วงแรกจะเชิญชวนเอกชนไทยก่อน ส่วนต่างประเทศหากสนใจสามารถมาร่วมได้ซึ่งในสัปดาห์หน้าผมจะมาติดตามความคืบหน้าเรื่องได้มอบหมายไว้ที่กระทรวงคมนาคมอีก” นายสมคิดกล่าว และว่า นอกจากนี้ยังได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายละเอียดโครงการศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว เพื่อเปิดเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูล จะเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายสมคิดกล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายเวนคืนที่ดินนั้น กฤษฎีกาพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องจุดไหนที่มีปัญหาด้านกฎหมาย จะต้องระบุออกมาเพื่อแก้ไขก่อน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการทางกฎหมาย ทำให้เรื่องดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปกติที่ดินที่เวนคืนมาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หน่วยงานเวนคืนใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้ ถ้าติดขัดจุดนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต้องไปหารือกันว่าจะแก้ไขอย่างไร

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้เร่งรัดไว้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ซึ่งได้ดำเนินการไปตามแผน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดขายซองประกวดราคา หลังจากนั้นภายในระยะเวลา 3 เดือนจะเปิดยื่นแข่งขันราคา และได้พูดคุยถึง เส้นทางอื่นจะมีการผลักดันให้ดำเนินการตามแผน เส้นทางที่ไปสู่ชนบทที่สำคัญ เช่น รถไฟทางคู่ ให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้า

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการตามนโยบาย รองนายกฯ ซึ่งจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่ติดขัด และนำเสนอเพื่อขอแก้ไขต่อไป หากเรื่องใดที่ใช้เวลานานในการแก้ไขกฎหมาย อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อใช้ ม.44 มาช่วย เพื่อให้เวลาในเรื่องกฎหมายสอดคล้องกับงานโครงการที่จะต้องเริ่มดำเนินการไปได้ ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ขณะนี้กฤษฎีกาช่วยดูอยู่ สำหรับการดำเนินโครงการต่อไปในอนาคตหากจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่จะต้องประกาศเป็นเขตพัฒนาซึ่งสามารถดำเนินการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เพราะสถานีรถไฟอย่างเดียวจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด และหากพัฒนาพื้นที่ได้จะสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีอีกวิธี คือ ใช้กฎหมายผังเมืองซึ่งเป็นประกาศพื้นที่ควบคุม พื้นที่ห้ามก่อสร้าง เป็นการจัดรูปที่ดินเพื่อให้เมืองสวยงาม มีประสิทธิภาพ เกิดย่านพาณิชยกรรม เป็นไปได้ที่จะใช้กฎหมาย 2 ฉบับคู่กันไป

“การใช้ประโยชน์สองข้างทางไม่ได้หมายความว่าไม่ใช่ทุกจุดทุกกิโลเมตรตลอดเส้นทาง แต่จะพัฒนาเป็นจุดที่มีศักยภาพ เช่น กรุงเทพ-โคราช จะมีการพัฒนาช่วงสถานีกลางดง และปากช่อง ดูเป็นจุดใหญ่ๆ และค่อยๆ ขยายไป ต้องดูตลอดเส้นทางก่อน มีสถานีไหนบ้างที่มีศักยภาพหรือมีการลงทุนไปบ้างก่อนแล้ว หรือเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งจะสามารถจัดสรรทำประโยชน์ได้” นายอาคมกล่าว

สำหรับการประเมินตัวเลขผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่นั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน การใช้ประโยชน์พื้นที่สถานี การใช้พื้นที่รอบสถานี และการพัฒนาเมือง ซึ่งจะเกิดการพัฒนา 3 วง ในตัวสถานี รอบสถานี และตัวเมือง

นายอาคมกล่าวว่า กรณีที่ผู้อยู่รอบสถานี มีรายได้เพิ่มขึ้นจะมีการเก็บภาษีมากขึ้นด้วยหรือไม่ ไม่ได้มีการพูดถึง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายเรื่องภาษีการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว จะต้องคิดถึงมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการมีโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งในการทำโครงการจะมองในแง่ประโยชน์รวม เศรษฐกิจรวม กรณีที่มีมูลค่าเพิ่ม รายได้เพิ่มจากพัฒนาพื้นที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าจะสามารถนำมาช่วยอุดหนุนค่าโดยสารได้อย่างไร มีแนวคิดในส่วนของผู้ด้อยโอกาส หรือประชาชนทั่วไป ที่อาจจะได้รับการสิทธิในการใช้รถไฟฟ้าในเขตเมือง ในราคาพิเศษ โดยกำหนดเป็นช่วงเวลาในการเดินทางนอกเวลาเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น