xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมคืนงบค้างท่อปี 59 กว่า 4 พันล้าน “รถไฟไทย-จีน - แอร์พอร์ตลิงก์” ช้ากว่าแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” คืนงบปี 2559 ที่ค้างท่อ 4 พันล้านเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หลังหลายโครงการถูกต่อต้านและเริ่มประมูลไม่ทัน เช่น ยกสะพานนวลฉวี ขณะที่ ร.ฟ.ท.ส่งคืนงบเวนคืนรวม 824 ล้าน เหตุรถไฟ ไทย- จีน, แอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และสายสีแดงช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ยังไม่คืบ พร้อมสั่งเร่งเคลียร์เวนคืนทางคู่ 4 สายส่งมอบผู้รับเหมา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่ากระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณปี 2559 รวม 187,893 ล้านบาท โดยถึงวันที่ 20 พ.ค. 2559 สามารถเบิกจ่ายได้รวม 108,573 ล้านบาท หรือ 57.78% แบ่งเป็นหน่วยงานราชการเบิกจ่ายได้ 68,767 ล้านบาท หรือ 50.53% รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายได้ 39,800 ล้านบาท หรือ 76.86% โดยมีโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันหรือลงนามสัญญาล่าช้า และต้องนำเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559 รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การถูกดึงงบประมาณคืนเป็นการปรับการใช้งบให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริง เป็นการเกลี่ยงบประมาณและนำเงินดังกล่าวไปใช้ดำเนินการในงานที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า โดยในส่วนของกรมทางหลวง คืนงบเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย2559 ประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้เช่น โครงการยกสะพานนวลฉวี และสะพานข้ามทางรถไฟที่เด่นชัย เป็นต้น กรมทางหลวงชนบท คืนประมาณ 1,100 ล้านบาท เช่น ถนนสาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง ยังดำเนินการไม่ได้เนื่องจากมีประชาชนต่อต้าน เป็นต้น

ส่วน ร.ฟ.ท.ต้องส่งคืนงบรวม 824 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประกอบด้วย โครงการรถไฟ ไทย-จีน (กรุงเทพ-โคราช) ซึ่งได้รับงบ 491 ล้านบาท ส่งคืน 340 ล้านบาท เหลือ 150 ล้านบาท, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ได้รับงบ 420 ล้านบาท ส่งคืน 380 ล้านบาท เหลือ 140 ล้านบาท และรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับงบ 45 ล้านบาทต้องส่งคืนทั้งหมด

พร้อมกันนี้ได้ให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบเวนคืนในปี 2559 ของโครงการรถไฟทางคู่ ได้แก่ ช่วง จิระ-ขอนแก่น ได้รับจัดสรรวงเงิน 304 ล้านบาท ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 59 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 170 ล้านบาท ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 28 ล้านบาท และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 40 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมา โดยการเวนคืนจะเริ่มได้เมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.ขออนุมัติ 4 สาย

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้รับงบปี 2559 จำนวน 77,509 ล้านบาท ผูกพันสัญญาแล้ว 80.24% โดยเป็นงบลงทุนที่เบิกจ่ายไปแล้ว 36,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% กรมทางหลวงชนบท ได้รับงบ 46,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 26,950 ล้านบาท หรือ 58.49% ส่วนงบลงทุนได้รับ 44,615 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 25,909 ล้านบาท หรือ 58% ร.ฟ.ท.ได้รับงบ 24,637 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 65.79% เป็นงบลงทุน 5,429 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,336 ล้านบาท หรือ 24.66% ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงคมนาคมยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น