xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสำรวจ 48 CEO มอง ศก.ครึ่งหลังปีนี้ทรงตัว-กังวลส่งออกวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จับมือนิด้าโพลเปิดผลสำรวจความเห็น 48 CEO ต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2559 พบส่วนใหญ่กว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจจะยังคงทรงตัว 47.92% มองส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบอยู่ในระดับมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่ส่วนใหญ่กังวลคือ เศรษฐกิจจีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วที่ล่าช้า แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน



นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาชีพ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ศูนย์สำรวจความเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำรวจความเห็นและมุมมองผู้บริหารที่กระจายทั่วภูมิภาค 48 ราย ระหว่าง 23 พ.ค.-10 มิ.ย. 59 เรื่อง “CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง 2559” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2559 พบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ 60.42% ระบุว่าจะทรงตัว 25% จะขยายตัว 12.50% หดตัว และ 2.08% ไม่แน่ใจอยู่ที่สถานการณ์บ้านเมือง

ส่วนแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง 56.25% ระบุว่าจะทรงตัว รองลงมา 27.08% จะขยายตัว 16.67% ระบุว่าหดตัว โดยปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลส่วนใหญ่ 62.50% ระบุว่าเป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 52.08% ระบุว่าเป็นกำลังซื้อภายในประเทศ 37.50% ภัยแล้ง 35.42% การเมืองภายในประเทศที่ไม่สงบ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่ 56.25% ระบุว่าเป็นเม็ดเงินลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา 50% ระบุว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ 41.67% การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ฯลฯ

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยส่วนใหญ่ 47.92% ระบุว่า ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอยู่ในระดับมาก 27.08% ระบุว่าปานกลาง 12.50% ระบุว่าน้อย 10.42% ระบุว่ามากที่สุด 2.08% ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ 1) รัฐบาลควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของไทย ขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือแถบชายแดน การสนับสนุนสินค้าไปสู่สินค้าที่มีนวัตกรรมและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0

2) รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ส่งออก โดยถ้าหากเป็นกิจการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศตั้งแต่ ร้อยละ 80-85 ขึ้นไปได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง และส่งเสริมให้ผู้ส่งออกดังกล่าวได้รับเงินคืนจากรัฐตามสัดส่วนของยอดส่งออกเพื่อนำมาชดเชยกับอัตราแลกเปลี่ยนและเป็นการจูงใจให้ผู้ส่งออกมีกำลังใจ 3) รัฐบาลควรเร่งการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรเบิกงบประมาณตามเป้าหมายที่วางไว้

4) รัฐบาลควรกำหนดมูลค่าหรือสัดส่วนของแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ในโครงการก่อสร้างที่ใช้เงินภาษี 5) รัฐบาลควรทบทวนหรือแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ 6) ควรมีการสานต่อนโยบายหรือโครงการต่างๆ หากมีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งของข้าราชการทุกระดับ เพราะมีบางโครงการที่ต้องชะงักหรือยุติลงเนื่องจากมีการเปลี่ยนข้าราชการหรือผู้บริหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น